xs
xsm
sm
md
lg

ไทยตอบโจทย์ “เกณฑ์ท่องเที่ยวยั่งยืนโลก” อพท.ใช้เวที UNWTO โชว์ผลการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.อพท.ปลื้มผลสำเร็จการร่วมประชุม UNWTO ระบุไทยโดดเด่นด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้สอดคล้องกับเกณฑ์สากลสูงถึง 70% และยังเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มส่งเสริมด้าน Creative Tourism โหนกระแสพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท.ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ณ เมืองไฮเดอราบาด สาธารณรัฐอินเดีย ว่าด้วยเรื่อง “การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (UNWTO Conference on Sustainable Tourism Development) เพื่อเปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกแสดงจุดยืนการทำงานในประเทศของตัวเองที่สอดคล้องกับหัวข้อดังกล่าว ซึ่งนับเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง

ในเวทีดังกล่าว อพท.ได้แสดงบทบาทในนามประเทศไทยนำเสนอแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อเวทีองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ตั้งแต่ วิธีปฏิบัติ (Approach) เกณฑ์การประกาศพื้นที่พิเศษ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสมาชิกที่ร่วมประชุมจากทั่วโลก โดยเฉพาะการผลักดันนโยบาย Creative Tourism ซึ่งยังไม่ค่อยมีประเทศใดเริ่มทำการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดนี้ นอกจากนั้นยังเสนอแนวทางการพัฒนาท่องเที่ยวไทยสู่ Low Carbon Tourism ที่นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

“ผลจากรายงานการทำงานในที่ประชุมนี้ จึงพบว่าการทำงานของ อพท.ครอบคลุมตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมากถึงร้อยละ 70 ตามที่ UNWTO กำหนดไว้ ได้แก่ นโยบาย Co-Creation (โค-ครีเอชัน) สร้างสมดุลการท่องเที่ยวใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทยเดินมาถูกทิศทางตามหลักสากลของ UNWTO และจะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เกิดความยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติต่อไปในอนาคต ก่อเกิดภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่การท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะเป็นการพัฒนาที่สอดรับกับกระแสพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว

ปัจจุบัน อพท.ได้ขยายผลแนวทางการดำเนินงานด้าน Low Carbon ให้ครอบคลุมในพื้นที่พิเศษทั้ง 6 แห่งของ อพท. โดยนำมาตรการลดภาวะโลกร้อนที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบใน 4 มาตรการ ได้แก่ การจัดการน้ำเสียและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการขยะ การใช้น้ำและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไปประยุกต์ใช้

อพท.ยังให้ความสำคัญต่อการประสานงานกับท้องถิ่น หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มุ่งส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ สู่การปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ พร้อมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การบำบัดขยะและน้ำเสีย จัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการเพื่อนำผลสำรวจไปปรับปรุง พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนตามเกณฑ์มาตรฐานรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว ตลอดจนการใช้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นสร้างมูลค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยวบนพื้นฐานแห่งความเป็นไทย เช่น วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น