สมุยได้รับเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบโลว์คาร์บอน ลดใช้พลังงาน คาดงบดำเนินการ 5-8 พันล้าน เห็นผลใน 3-5 ปี เชื่อสามารถผลักดันให้ราคาห้องพักในสมุยปรับเพิ่มได้ถึงร้อยละ 30-50
นายทนงศักดิ์ สมวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสมุย เปิดเผยว่า เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับเลือกจากคณะทำงานเอเปก ให้เป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาให้เป็นเมือง "โลว์คาร์บอน โมเดล ทาวน์" (Low Carbon Model Town) เพื่อผลักดันให้เกาะสมุยลดปริมาณการใช้คาร์บอน และลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการพัฒนาสมุยให้เป็นเมืองโลว์คาร์บอน คาดการณ์อยู่ที่ 5-8 พันล้านบาท โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการร่วมระหว่างรัฐบาลไทย และเอเปก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกาะสมุยมีการใช้พลังงานโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดถึงร้อยละ 65 ของธุรกิจทั้งหมด ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถผลักดันให้เกาะสมุยเป็นเมืองโลว์คาร์บอนได้ จะสามารถผลักดันให้ราคาห้องพักในสมุยปรับเพิ่มได้ถึงร้อยละ 30-50 เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม และยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของโรงแรมจะต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ รายงานจากองค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 4.95% ของปริมาณปล่อยคาร์บอนไดออกซ์ทั้งหมดของโลก โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากภาคการขนส่งมากเป็นอันดับหนึ่ง คือร้อยละ 75 รองลงมาเป็นบริการที่พัก ร้อยละ 21 และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้อยละ 4 ยังไม่รวมขยะปริมาณมหาศาลในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องจัดการ
แม้การท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉลี่ยคิดเป็น 5-6 สัปดาห์ต่อปี และนักท่องเที่ยวที่เป็นประชากรราว 10% ของทั้งโลก แต่กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับเทียบเท่ากิจกรรมที่ผู้คนทั้งโลกใช้ในการดำเนินชีวิตปกติตลอดทั้งปี นั่นเพราะการท่องเที่ยวรวมเอาการเดินทาง กิจการที่พัก ร้านอาหาร สินค้าที่ระลึก ฯลฯ นอกจากนั้น การท่องเที่ยวคือช่วงเวลาพิเศษ ผู้ประกอบการจึงเลือกเสนอความสะดวกสบายและความพร้อมในทุกด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนนักท่องเที่ยวเองก็มักมีความคิดว่า “จ่ายเพื่อซื้อความสบายในวันพักผ่อน” ทำให้เกิดการบริโภคแบบไม่ยั้งในทุกๆ เรื่อง การมาเที่ยวแต่ละครั้งจึงหมายถึงการผลาญพลังงานมากเกินจำเป็น และมากเกินกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ “Low Carbon Tourism” ขึ้น