เมื่อถึงเวลาพักร้อน คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เวลาในวันพักไปกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้างก็ตามที่แต่ละคนจะกำหนด
แต่ในขณะที่เรากำลัง “พักร้อน” โลกที่เรากำลังอยู่อาศัยกลับร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีเวลาพัก
ประเด็นเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายๆ คนรู้สึกว่าไกลตัว นั่นเพราะผลกระทบยังไม่เกิดอย่างฉับพลันทันที แต่หากเกิดขึ้นเมื่อไรรับรองว่าทุกคนย่อมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องของพิบัติภัย โรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ไม่เฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมหรือภาคการขนส่งเท่านั้นที่เป็นตัวปล่อยมลภาวะและเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้โลก แต่ภาคการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนด้วยเช่นกัน
รายงานจากองค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 4.95% ของปริมาณปล่อยคาร์บอนไดออกซ์ทั้งหมดของโลก โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากภาคการขนส่งมากเป็นอันดับหนึ่ง คือร้อยละ 75 รองลงมาเป็นบริการที่พัก ร้อยละ 21 และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้อยละ 4 ยังไม่รวมขยะปริมาณมหาศาลในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องจัดการ
และแม้การท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉลี่ยคิดเป็น 5-6 สัปดาห์ต่อปี และนักท่องเที่ยวที่เป็นประชากรราว 10% ของทั้งโลก แต่กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับเทียบเท่ากิจกรรมที่ผู้คนทั้งโลกใช้ในการดำเนินชีวิตปกติตลอดทั้งปีเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการท่องเที่ยวนั้นรวมถึงการเดินทาง กิจการที่พัก ร้านอาหาร สินค้าที่ระลึก ฯลฯ นอกจากนั้น การท่องเที่ยวคือช่วงเวลาพิเศษ ผู้ประกอบการจึงเลือกเสนอความสะดวกสบายและความพร้อมในทุกด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนนักท่องเที่ยวเองก็มักมีความคิดว่า “จ่ายเพื่อซื้อความสบายในวันพักผ่อน” ทำให้เกิดการบริโภคแบบไม่ยั้งในทุกๆ เรื่อง การมาเที่ยวแต่ละครั้งจึงหมายถึงการผลาญพลังงานมากเกินจำเป็น และมากเกินกว่าปกติ
มีการคำนวณว่า หากธุรกิจท่องเที่ยวยังคงดำเนินไปเช่นนี้โดยไม่มีการปรับตัว ภายในปี 2578 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 130% ดังนั้น ทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก ถ้าไม่อยากเป็นตัวการทำให้โลกที่ร้อนอยู่แล้วต้องร้อนขึ้นอีก
บางคนอาจเกิดคำถามว่า แทนที่เราจะออกไปเที่ยวพักผ่อนดูโลกกว้าง เราควรนอนอยู่บ้านเฉยๆ ใช่หรือไม่?? ในเรื่องนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งถือเอาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ “Low Carbon Tourism” เข้าเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก ได้ให้คำตอบว่า แม้การท่องเที่ยวจะมีส่วนทำให้โลกร้อน แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เพราะ Low Carbon Tourism มิใช่การปฏิเสธการท่องเที่ยว แต่มีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการ
ทั้งนี้ อพท. ได้ดำเนินกิจกรรมจัดทำมาตรการลดภาวะโลกร้อนกับการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ Low Carbon Destination โดยใช้พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะหมาก จ.ตราด ที่มีการลงนามปฏิญญาเกาะหมาก Low Carbon Destination ทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และชาวบ้านในท้องที่ต่างแสดงเจตจำนงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้พลังงานสะอาดเป็นพลังงานทางเลือก โดยทาง อพท. ตั้งใจจะพัฒนาเกาะหมากให้เป็น Green Island ในระดับสากล
และในอนาคตก็จะขยายผลนโยบายนี้ให้กระจายไปในพื้นที่พิเศษของ อพท. ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษอู่ทอง
สำหรับการจะเป็นนักท่องเที่ยวแบบ Low Carbon นั้นทำได้ง่ายๆ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการท่องเที่ยว ไม่มุ่งเน้นไปที่ความหรูหราสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความเรียบง่าย ความสงบของชุมชนท้องถิ่น ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม หรืออาจจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ที่เราทำได้ เช่น ลดการสร้างขยะในแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาและวางแผนการเดินทางเพื่อจะได้เลือกเส้นทางที่ดีที่สุด หรือเลือกวิธีการเดินทางที่ประหยัดพลังงานมากที่สุด ประหยัดน้ำประหยัดไฟในที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวเท่าที่จะทำได้ เลือกการเดินเท้าหรือขี่จักรยานในการชมแหล่งท่องเที่ยวแทนที่จะขับรถยนต์ เป็นต้น
จากสถิติพบว่า หากพักอยู่ในโรงแรมห้าดาวเป็นเวลา 15 วัน จะสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าจากระบบเครื่องปรับอากาศ น้ำ อาหาร มากกว่าการใช้ชีวิตตามปกติถึง 3 เท่า แต่หากเราท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่นในประเทศด้วยจักรยาน และพักแรมแบบแคมปิ้ง ก็จะลดการใช้พลังงานไปได้หลายเท่าตัว
จะเป็นนักท่องเที่ยว ใครๆ ก็เป็นกันได้หากมีเงินและมีเวลา แต่หากจะเป็นนักท่องเที่ยวยุคใหม่ เที่ยวแบบใส่ใจไม่ทำร้ายโลก ก็ต้องพัฒนาและปรับทัศนคติของตัวเองมาเป็นนักท่องเที่ยว Low Carbon ถึงจะอินเทรนด์ทันโลกมากที่สุดในตอนนี้ เพราะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจาก อพท. และหนังสือ “จากพลังงานถึงถุงผ้า” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com