อพท. สบช่องได้เป็นสมาชิก UNWTO เตรียมผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่เน้นรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี เกาะกระแสนิยม “ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ อพท. ได้รับการประสานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปร่วมบรรยายในงานประชุมองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO Conference on Sustainable Tourism Development) ที่เมืองไฮเดอราบัด สาธารณรัฐอินเดีย และจากที่ได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก
อพท. จึงเห็นว่าเวทีนี้จะสามารถเป็นช่องทางในการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันในระดับสากล จึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก UNWTO เพื่อเป็นตัวแทนนำเสนอท่าทีของประเทศไทยในด้านการจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ล่าสุด ทาง UNWTO มีหนังสือตอบรับ อพท. เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบ (UNWTO Affiliate Member) เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
“การได้เป็นสมาชิกในเวทีนี้ เหมือนเป็นพันธะสัญญาที่จะร่วมมือกันดำเนิน
งานด้านการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ อพท. ได้เชื่อมต่อกับองค์กรด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะกับองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาล แต่เป็นองค์กรภาคเอกชน และ NGO เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และนวัตกรรมระหว่างกัน และการที่ UNWTO รับ อพท. เป็นสมาชิก เท่ากับเป็นการรับรองสถานะ อพท. ในการเป็นองค์กรท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"
ทั้งนี้ อพท. มีแผนว่า จะใช้โอกาสที่เป็นสมาชิก UNWTO ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเรื่องการสร้างผลประโยชน์แก่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยว ภายใต้รูปแบบการทำงาน ประสานภาคีเครือข่าย หรือ Co-Creation ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนพัฒนาการท่องเที่ยวของตนเองผ่านกระบวนการ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” และรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวที่อยู่ในกระแสความนิยม เพราะกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เปิดโอกาให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนเป็นการท่องเที่ยวที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของ อพท. ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน ได้รับการยอมรับจากทั้งชุมชนในพื้นที่พิเศษ และหน่วยงานรัฐ ในเรื่องของการเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เห็นได้จากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชิญผู้อำนวยการ อพท. เป็นผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปบรรยายองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในเวทีระดับนานาชาติ เช่น UNWTO และ APEC