รฟม.ประเดิมตั้งบริษัทลูกเดินรถและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ในปี 57 “ยงสิทธิ์” เผย ม.ธรรมศาสตร์จะสรุปผลศึกษาในเดือน มิ.ย.นี้ ดำเนินการได้ทันที ส่วนแผนรวมจะตั้งทั้งหมด 5 บริษัทลูก เช่น ฟีดเดอร์ พัฒนาในสถานีและตั๋วร่วม มั่นใจหารายได้จุนเจือองค์กร ลดการอุดหนุนภาครัฐได้ เผยเตรียมปรับโครงสร้าง รฟม. เพิ่มคน20-30% ลุยงานหลักเร่งสร้างรถไฟฟ้า 6 สายให้เสร็จใน 9 ปี
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสรุปผลการศึกษาการจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟม. ซึ่งเบื้องต้นกำหนดที่จะตั้งรวม 5 บริษัทลูก ประกอบด้วย 1. บริษัท เดินรถ ทำหน้าที่เดินรถ บำรุงรักษา ออกแบบ และผลิต 2. บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 3. บริษัท พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี เช่น ร้านค้า บริการต่างๆ 4. บริษัท ฟีดเดอร์ บริการระบบขนส่งเชื่อมสถานี และบริการที่จอดรถ (Parking) และ 5. บริษัท ระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะดูแลด้านการตลาดและการบริการลูกค้าด้วย โดยบริษัทเดินรถและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะสามารถจัดตั้งได้ก่อนภายในปี 2557
ทั้งนี้ การตั้งบริษัทลูกเป็นแนวทางที่จะทำให้การบริหารของ รฟม.มีความคล่องตัว และสามารถหารายได้เพื่อช่วยลดภาระอุดหนุนงบประมาณภาครัฐลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องการให้ รฟม.หาแนวทางเพิ่มรายได้เพื่อลดภาระของภาครัฐ โดยเมื่อปี 2554 รฟม.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังศึกษาและทำรายงานเสนอ ครม.เมื่อเดือนมีนาคม 2555 เรื่องการตั้งบริษัทลูก เพื่อความคล่องตัว โดยถือหุ้น 100% หรือร่วมทุนกับหน่วยงานรัฐ
“ทางธรรมศาสตร์ถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการช่วยรัฐวิสาหกิจตั้งบริษัทลูก โดยจะศึกษาวิธีการจัดตั้งบริษัทลูก แผนธุรกิจ แผนการเงิน บุคลากรทั้งหมด ซึ่งบริษัทลูกจะทำให้ระบบการเดินรถไฟฟ้ามีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น ระบบขนส่งเชื่อมเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่งมีความสะดวก, ภายในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านค้าและบริการต่างๆ ซึ่งนอกจากเพิ่มรายได้ให้ รฟม.แล้ว จะจูงใจให้คนที่อยู่รอบสถานีหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ช่วยลดปริมาณรถบนถนนลง เป็นต้น” นายยงสิทธิ์กล่าว
นายยงสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้หน้าที่หลักของ รฟม.คือ เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สายในแผนแม่บทให้แล้วเสร็จตามแผน ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จากเดิมรถไฟฟ้า 20 กิโลเมตรใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างถึง 20 ปี แต่แผนขณะนี้จะก่อสร้างรถไฟฟ้า 200 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปี ปริมาณงานเพิ่มขึ้น 10 เท่า ดังนั้น โครงสร้างใหม่ของ รฟม.จะมีการเพิ่มบุคลากรอีกประมาณ 20-30% โดยเฉพาะส่วนงานก่อสร้างและวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระบบรถ การบริหารด้าน PPP และจะแบ่งทีมทำงานให้มากขึ้น โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ 2557 อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างการทำงานใหม่จะช่วยทำให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่ล่าช้า แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่อาจจะส่งผลบกระทบต่อการดำเนินโครงการ เช่น ขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติขอ งครม., การเวนคืน, การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งควบคุมไม่ได้