บวท.เผยปัญหาคลื่นชุมชนรบกวนการสื่อสารการบินยังไม่ลด ปี 55 นักบินแจ้งรบกวนถึง 2,804 ครั้ง จับมือ กสทช.บินสำรวจหาแหล่งส่ง ล่าสุดพบเส้นทางบินพิษณุโลก-นครสวรรค์-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-ดอนเมือง พบคลื่นรบกวนจำนวนมาก กสทช.เตรียมดำเนินการตามกฎหมาย ด้าน กมธ.คมนาคมวุฒิสภา ร่วมผลักดัน ชี้เป็นปัญหาระดับชาติ
น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาคลื่นความถี่วิทยุชุมชนที่แพร่กระจายคลื่นแปลกปลอมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้เกิดการรบกวนการให้บริการจราจรทางอากาศเป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมาพบสถิติการรบกวนที่ได้รับแจ้งจากนักบินกว่า 2,804 ครั้ง โดยนักบินสายการบินต่างๆ ได้ยืนยันว่าขณะบินผ่านน่านฟ้าไทยจะได้รับสัญญาณการรบกวนเป็นเสียงจัดรายการวิทยุ เสียงเพลง เสียงโฆษณาสินค้า ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางการบิน เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีสภาพอากาศไม่ดีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ และยืนยันอีกว่าการบินผ่านในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา กลับไม่พบปัญหาการรบกวนดังกล่าวเลย
ซึ่งวิทยุการบินฯ และ กสทช.ได้ลงนามความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชนรบกวนการบิน ทั้งนี้ ได้มีการรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้สั่งการให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการบินนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย
โดยล่าสุดวิทยุการบินได้ร่วมมือกับ กสทช.แก้ไขปัญหาวิทยุภาคพื้นดินรบกวนการสื่อสารการบิน โดยเริ่มบินทดสอบหาสัญญาณรบกวนทั่วประเทศไทยแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งผลการทดสอบพบการรบกวนด้วยเสียงแปลกปลอมในทุกภาคของประเทศไทย โดยเส้นทางบินทดสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 56 ในเส้นทางพิษณุโลก-นครสวรรค์-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-ท่าอากาศยานดอนเมือง พบคลื่นรบกวนจำนวนมาก ซึ่งสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นต้นเหตุการแพร่กระจายคลื่นแปลกปลอมนั้นจะมาจากสาเหตุเครื่องส่งวิทยุคุณภาพต่ำ หรือการเชื่อมระหว่างเครื่องส่งกับสายส่งกำลังไปยังสายอากาศส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น โดยสำนักงาน กสทช.เขตจะนำผลการบินทดสอบทุกครั้งที่ตรวจพบไปดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งแพร่กระจายคลื่นรบกวน และดำเนินการด้านกฎหมายในส่วนของ กสทช.ต่อไป