เอเอฟพี - ผู้อำนวยการโครงการ เอฟ-35 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยวันนี้ (25) ว่าเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ดังกล่าวอาจกลับมาบินได้อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ หลังปัญหาเครื่องยนต์ทำให้ต้องระงับการบินทดสอบเอาไว้
พลโทคริสโตเฟอร์ บ็อกแดน ซึ่งกำลังอยู่ในออสเตรเลียเพื่อเจรจาเกี่ยวกับเครื่องบินรบดังกล่าว ไม่ขอพูดถึงการทำข้อตกลงใดๆ กับลูกค้าต่างชาติ ที่เปลี่ยนใจถอนตัวจากโครงการ เอฟ-35 หรือเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม (เจเอสเอฟ) ที่มีมูลค่ามหาศาล อันเนื่องมาจากความล่าช้า
บ็อกแดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองเมลเบิร์นว่า หากตรวจสอบพบสาเหตุของรอยร้าวบริเวณใบพัดหม้อแปลงในห้องเครื่องยนต์ของเครื่องบินขับไล่รุ่น เอฟ-35 ว่ามาจากการถูกวัตถุแปลกปลอมภายนอกกระแทก หรือเป็นปัญหาในการผลิตพื้นฐาน ก็อาจจะนำเครื่องบินดังกล่าวขึ้นสู่เวหาได้อีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า หรืออีก 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าหากปัญหาไม่ใช่แค่นั้น เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องตรวจสอบสิ่งที่จะเป็นความเสี่ยงต่อฝูงบินขับไล่เหล่านั้น
“ความเห็นของผมคือเครื่องบินจะกลับมาบินได้อีกครั้งภายในระยะเวลาที่เชื่อถือได้ หากนี่ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง” เขาระบุ
ทั้งนี้ เพนตากอนมีแผนผลิตเครื่องบินขับไล่รุ่น เอฟ-35 จำนวน 2,443 ลำให้กับกองทัพสหรัฐฯ และอีกหลายร้อยลำให้กับคู่สัญญาต่างชาติ 8 ราย ในจำนวนนั้นรวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น และอิสราเอล
ด้านตุรกีได้ชะลอการซื้อเครื่องบินโครงการเจเอสเอฟนี้ ซึ่งมีราคาสูงลิบ และล่าช้า ตามหลังการตัดสินใจก่อนหน้าของอิตาลี แต่บ็อกแดนย้ำว่ายังไม่มีสิ่งชี้ชัดว่าคู่สัญญาใดก็ตามกำลังทบทวนที่จะถอนตัวจากโครงการดังกล่าวเลย
บ้อกแดนชี้แจงว่า รอยแตกร้าวขนาดเล็กถูกพบระหว่างการตรวจสอบภาคพื้นดินรวมเวลา 50 ชั่วโมงตามกิจวัตร และเครื่องยนต์ทั้งหมดก็ถูกส่งกลับไปยังบริษัทแพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ ผู้ผลิต เพื่อการตรวจสอบแล้ว
ฝูงบินขับไล่ เอฟ-35 ทั้งหมด 51 ลำที่ยังอยู่ในระหว่างการบินทดสอบ ถูกสั่งระงับบินไว้ชั่วคราว เนื่องจากมาตรการป้องกันล่วงหน้า ในวันศุกร์ (22) ที่ผ่านมา หลังพบรอยร้าวดังกล่าว ณ ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ด ในแคลิฟอร์เนีย
เพนตากอนตั้งความหวังไว้สูงถึงประสิทธิภาพของเครื่องบินเอฟ-35 ซึ่งสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับด้วยระบบเรดาร์ ที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้แทนเครื่องบินต่อสู่ส่วนใหญ่ในกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และนาวิกโยธินสหรัฐฯ ภายใน 10 ปีนี้