ASTVผู้จัดการรายวัน - ทีดีอาร์ไอจวก ปตท.ผูกขาดธุรกิจพลังงานสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยหน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และนโยบายด้านพลังงานยังเน้นรักษาผลประโยชน์ของ ปตท.มากกว่าประเทศชาติและประชาชน จี้ กกพ.เร่งแยกท่อก๊าซฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ท่อก๊าซฯ ได้
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ) ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาเศรษฐศาสตร์การเมือง ครั้งที่ 4 ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “พลังงานไทย... เพื่อคนไทย... หรือเพื่อใคร” ว่า ธุรกิจพลังงานไทยมีการผูกขาดโดยสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐในการกำหนดราคา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งพบว่าการกำหนดราคาพลังงานใช้หลักต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus) ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องดิ้นรนในการประหยัดต้นทุนเพราะสามารถส่งผ่านต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคได้ทั้งหมด
ที่ผ่านมาประชาชนหวังพึ่งพาหน่วยงานรัฐในการดูแลการกำหนดราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมและเกิดการแข่งขัน แต่พบว่าหน่วยงานรัฐกลับพึ่งพาไม่ได้และเป็นตัวปัญหาเสียเอง จะเห็นได้จากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีความเท่าเทียม โดยราคาเนื้อก๊าซฯ ที่อุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าต้องรับภาระสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซฯ ที่โรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท. โดยอ้างเหตุผลว่าโรงแยกก๊าซฯ ปตท.ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า ก๊าซฯ จากอ่าวไทยรวมกับก๊าซฯ จากพม่าที่มีต้นทุนสูงกว่าถูกใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ ภาคปิโตรเคมียังจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ในขณะที่ภาคครัวเรือนจ่าย 1.43 บาท ภาคขนส่ง 4.47 บาท และภาคอุตสาหกรรม 12.12 บาท จึงควรเร่งแก้ไขการผูกขาดด้วยการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกจาก ปตท.เพื่อไม่ให้ธุรกิจก๊าซฯ ถูกผูกขาดโดย ปตท. และบริษัทในเครือเหมือนในปัจจุบัน
ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ตามที่ กกพ.กำหนดอัตราค่าผ่านท่อตามเกณฑ์ IRROE 18% สำหรับท่อเก่าที่กำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 โดยอิงอัตราดอกเบี้ยธนาคารที่ 13-14% และท่อใหม่มีอัตราค่าผ่านท่อ 12.5% เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยธนาคารได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2-3% แต่ค่าผ่านท่อกลับไม่ได้ปรับลดลงมาด้วย ทำให้ ปตท.ได้กำไรเกินควรมาตลอด
ซึ่งการผูกขาดธุรกิจพลังงานของ ปตท.นั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ กรรมการบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น ปตท.โดยกรรมการ ปตท.ได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยคนละ 3 ล้านบาท/ปี ซึ่งบุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการ ปตท.มีทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบาย เช่น เลขาฯ สศช. ผอ.สนพ. และนักการเมือง หน่วยงานกำกับดูแล เช่น อัยการ อดีตผู้บริหาร ปตท. เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนของผลประโยชน์และบทบาทหน้าที่ ทำให้นโยบายพลังงานของประเทศจึงมุ่งที่จะรักษาผลประโยชน์ของ ปตท.มากกว่าประชาชน และของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายย่อยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ปตท.ใหญ่เกินไปกว่าที่ใครจะแตะต้องได้ จะเห็นได้จากรายได้รวมของกลุ่ม ปตท.เท่ากับ 45.6% ของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดังนั้น ปตท.ควรเน้นเฉพาะธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจต้นน้ำ และไม่ควรเข้าไปแข่งในธุรกิจปลายน้ำ (ดาวน์สตรีม) เช่นปั๊มน้ำมัน ปิโตรเคมี ซึ่งล่าสุด ปตท.มีการตั้งบริษัทลูกทำธุรกิจไฟฟ้า จะเห็นได้ว่ากำลังรุกคืบไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า โดยอาศัยความได้เปรียบด้านการผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ดังนั้นพลังประชาชนเท่านั้นจะช่วยยับยั้งการครอบงำทางพลังงานได้
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ปตท.ทำธุรกิจเฉพาะต้นน้ำเพียงอย่างเดียว การที่กลุ่ม ปตท.หันไปทำธุรกิจต่อเนื่องสู่ปลายน้ำ เช่น ปิโตรเคมี ปั๊มน้ำมันนั้นจะทำให้ ปตท.มีธุรกิจที่เข้มแข็ง แต่เห็นด้วยกับการแข่งขันเสรี ดังนั้น กกพ.ควรเร่งดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมา หรือทำเป็นแบบ Third Party Assets เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซฯ ได้ และสามารถนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อแข่งขันกับ ปตท.ได้ ส่วน ปตท.จะหันไปทำธุรกิจไฟฟ้านั้นหาก ปตท.ยังผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ก็ไม่เหมาะสม