xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เตรียมอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ยันกำหนดค่าเช่าตลาดจตุจักรตามขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
“ร.ฟ.ท.” เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรในการจ่ายค่าเช่าแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร ยันกำหนดค่าเช่าทำตามขั้นตอนถูกต้อง “ประภัสร์” น้อมรับคำตัดสินสุดท้าย เตรียมศึกษาเก็บค่าอื่นๆ แทน โต้กรณี ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารตลาด ชี้ตลาดอยู่คู่รถไฟมากว่า 100 ปี ถ้าทำตลาดไม่ได้โรงแรมใหญ่ก็ทำไม่ได้ด้วย ชี้ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องยุบตลาดจตุจักร

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงคำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร กรณี ร.ฟ.ท.เรียกเก็บค่าเช่าแผงกับผู้ค้าสูงเกินความเป็นจริงนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาการกำหนดอัตราค่าเช่าร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยมีคณะกรรมกรรพิจารณาทั้งฝ่ายอนาบาล (กฎหมาย) ของ ร.ฟ.ท. และฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายในขณะยี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดย ร.ฟ.ท.จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแน่นอน โดยระหว่างนี้จะไปหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อดูข้อระเบียบต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ

ส่วนการดำเนิการภายในตลาดนัดจตุจักร การบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆยังคงดำเนินการต่อไปเช่นเดิม ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ ร.ฟ.ท.จะต้องทำคู่ขนานไปด้วย คือ จะมีการศีกษารูปแบบการบริหารจัดการภายในตลาดนัดจตุจักรนอกเหนือจากการเรียกเก็บค่าเช่าเหมือนที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยบริหาร เช่น เรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค ค่าอื่นๆ ที่เกิดจากการบริหารจัดการตลาด เป็นต้น หากสุดท้ายคดีสิ้นสุดแล้ว ร.ฟ.ท.ไม่สามารถเก็บค่าเช่าได้ตามอัตราที่กำหนด

“เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ทาง ร.ฟ.ท.ก็พร้อมน้อมรับคำตัดสิน ศาลว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ระหว่างนี้ก็ต้องคิดเตรียมการรองรับไว้ก่อนว่า ถ้าถึงจุดสิ้นสุดแต่ละแนวทางที่ออกมามีผลกระทบอย่างไร” นายประภัสร์กล่าว

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางศาลปกครองกลาง ระบุว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินกิจการเป็นผู้บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรแต่อย่างใด แม้ที่ดินดังกล่าวจะเป็นทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. แต่ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ให้อำนาจ ร.ฟ.ท.ดำเนินการที่เกี่ยวกับการขนส่งรถไฟ และกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการกิจการตลาดนัด นอกจากจะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่กิจการรถไฟแล้ว ยังไม่ได้เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับการขนส่งรถไฟและเป็นประโยชน์ต่อกิจการรถไฟ

นายประภัสร์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้อวดูว่าตีความกฎหมายกว้างแค่ไหน ที่ระบุว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะรถไฟก่อตั้งมากว่า 100 ปี จะเห็นว่ามีสถานีรถไฟที่ไหนก็มีตลาดอยู่ด้วย เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารที่ต้อวการซื้อของฝากญาติมิตร ทำแบบนี้มาเป็น 100 ปีแล้ว เรื่องนี้สะท้อนข้อเท็จจริงชัดเจน ต้องถามว่ากิจกรรมต่อเนื่องคืออะไร ถ้าวันนี้บอกทำตลาดไม่ได้ ดังนั้นกรณีที่มีโรงแรมบนที่ดินรถไฟก็ทำไม่ได้ด้วย และอยากถามว่าระหว่างตลาดกับโรงแรมอะไรสำคัญกว่ากัน ถ้าไม่ให้ทำจริงๆ ก็ต้องเลิกหมดแบบนี้ ผู้ค้าเดือดร้อนกว่าหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เกี่ยวกับการให้ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรรวม789 คน ไปลงนามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าในอัตราใหม่ ที่ ร.ฟ.ท.กำหนด เนื่องจากศาลเห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวของ ร.ฟ.ท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกเก็บค่าเช่าสูงเกินไปและไม่เป็นไปตามระเบียบ ร.ฟ.ท.ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ดังนั้นเมื่อศาลวินิจฉัยว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรแล้ว ร.ฟ.ท.ย่อมไม่อาจเรียกเก็บค่าบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจากผู้ค้าได้ เว้นแต่ค่าเช่าที่สามารถเรียกเก็บได้ตามระเบียบ ร.ฟ.ท.ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.ที่ให้เรียกเก็บค่าเช่าร้อยละ 2.75 ต่อปีของราคาที่ดินต่อปี ซึ่งคำนวณเป็นเงินเท่ากับ 890 บาทต่อเดือนต่อ 1 แผงค้าขนาด 5 ตารางเมตร

การที่ผู้ถูกฟ้องเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในราคา 3,157 บาทต่อเดือนต่อแผง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาห้าม ร.ฟ.ท.เรียกเก็บเงินจากผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเกินกว่าอัตราเช่าที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ฟ้องคดี คือ วันที่ 2 เมษายน 2555 นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น