“พาณิชย์” ยอมรับ SMEs อาการหนักพิษบาทแข็ง เฉพาะเกษตรอ่วมสุด แนะแนวทางจัดการความเสี่ยง พร้อมช่วยหาเงินทุน ขยายตลาด พร้อมนำข้อเสนอลดดอกเบี้ยเสนอรัฐบาล นักวิชาการชี้หากลดดอกเบี้ยไม่ได้ก็ต้องมีมาตรการสกัดเงินเก็งกำไร
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ระดมความคิดเห็น “พาณิชย์ช่วยผู้ส่งออก SMEs จากวิกฤตค่าเงินบาท” วานนี้ (16 พ.ค.) ว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าและผันผวน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้ เพราะโคดราคาไม่ได้ และไม่สามารถซื้อขายสินค้าตามสัดส่วนเงินบาทที่แข็งค่าได้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จะทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง
ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่า สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับผลกระทบ รายได้ของเกษตรกรจะลดลง และยังมีปัญหากระทบไปถึงสต๊อกสินค้าเกษตรต่างๆ ที่จะขายได้ราคาลดลง
โดยแนวทางในการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ ระยะสั้นจะเน้นการให้ความรู้ในการปรับตัวและบริหารจัดการเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงิน ส่วนมาตรการระยะยาวจะเน้นการให้ความช่วยเหลือกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขยายตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2556 ที่กำหนดไว้ที่ 8-9% จะต้องรอการประเมินข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ที่จะมาประชุมกันในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ อีกครั้งว่าจะต้องปรับลดเป้าหมายการส่งออกหรือไม่
นางวัชรีกล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า ส่วนใหญ่ทั้งนักวิชาการและ SMEs ต่างก็เห็นว่าควรจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพราะหลายๆ ประเทศได้มีการปรับลดลงมาแล้ว แต่ไทยยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งมองว่าการดูแลเรื่องดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ในเมื่อเศรษฐกิจไม่มีปัญหา แรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็ไม่มี จึงไม่น่าห่วงอะไร โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวิร์กชอปครั้งนี้นำเสนอนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลต่อไป
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า แต่หากไม่ลดดอกเบี้ย ก็ควรมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแลเงินบาท เช่น การควบคุมการทำธุรกรรมการเงินสำหรับคนต่างชาติห้ามเกิน 90-100 ล้านเหรียญสหรัฐ การกำหนดระยะเวลาถือครองตราสารหนี้ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเก็บค่าธรรมเนียม เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับเงินเก็งกำไร