xs
xsm
sm
md
lg

“ฉลองภพ” ชี้ความขัดแย้ง “คลัง-ธปท.” สุดเยียวยา ตลาดขาดความเชื่อมั่นธนาคารกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ฉลองภพ” ชี้ปัญหา “ดอกเบี้ย” กลายเป็นประเด็นการเมือง ความขัดแย้ง “คลัง-ธปท.” ยากเกินเยียวยา ระบุตลาดขาดความเชื่อมั่น ธปท. เพราะถูกการเมืองแทรกแซง ชี้นิ้วสั่งได้ตามใจชอบ ลั่นปัญหาค่าเงินบาทจะหมดไปหากรัฐเร่งลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย แรงกดดันก็จะจบไปเอง

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินความขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ย กลายเป็นประเด็น “การเมือง” ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายลำบากขึ้น เพราะเสี่ยงต่อผลกระทบความเชื่อมั่น แนะที่มาปัญหาคือ ข้อตกลงเป้าหมายการเงินระหว่างคลัง และ ธปท.ไม่ชัด

นายฉลองภพ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท.ในการดูแลค่าเงินบาท ต้องย้อนกลับไปดูว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายนโยบายการเงินตกลงกันอย่างไร เพราะในกฎหมายระบุไว้ชัดก่อนปลายปีของทุกปีให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตกลงกันถึงเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินในปีถัดไป จากนั้น กนง. และ ธปท.ก็มีหน้าที่ปฏิบัติ โดยที่รัฐมนตรีไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะต้องมีอิสระในตัวเอง

“ปัญหาทั้งหมดก็คือว่า ปีที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ตกลงเอาเป้าหมายเดิม แต่เวลาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่มีความเสี่ยงที่จะออกนอกกรอบเลย แล้วเราจะดูอะไร อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1.5% ก็อยู่ในกรอบ ฝ่ายหนึ่งมองว่าเมื่ออยู่ในกรอบก็น่าจะมีเป้าหมายอื่น เช่น กระทรวงคลังก็มองเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ห่วงว่าอัตราแลกเปลี่ยนอาจแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วน ธปท.ก็ห่วงอาจมีภาวะฟองสบู่ในบางเซกเตอร์”

ถ้าปีที่แล้วตกลงกันให้ละเอียดกว่านี้ เช่น ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ น่าจะต้องดูเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่ให้แตกต่างจากคู่แข่งเรามากนัก อาจจะเขียนในข้อตกลงด้วย เพราะถือเป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งในการดูแลเรื่องเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสิ่งที่ดี และจำเป็น เพราะช่วยรัฐบาลสามารถกู้เงินมาลงทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายฉลองภพ กล่าวว่า จริงๆ ทุกปีเราก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีโอกาสที่จะมีเงินทุนไหลเข้า ซึ่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ตนเองอยู่กระทรวงการคลัง ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องมานั่งคุยกันตั้งแต่ต้นว่า ในกรณีถ้าเงินเฟ้อไม่เป็นปัญหาควรจะให้ความสำคัญในเรื่องอะไร

“ทุกวันนี้ที่มีปัญหาคือเน้นเครื่องมืออันเดียว เน้นเรื่องดอกเบี้ยมากเกินไป ซึ่งดอกเบี้ยมันทำได้เฉพาะบางอย่าง มันทำได้ไม่หมดทุกอย่าง จริงๆ ถ้าเผื่อว่าเงินเฟ้อไม่เป็นปัญหามาก การลดดอกเบี้ยอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้ากลัวว่าลดดอกเบี้ยแล้วจะเกิดผลข้างเคียง อย่างภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูง ก็ออกมาตรการมาควบคุมกำกับไปพร้อมกันในแต่ละสาขาได้”

นายฉลองภพ ระบุว่า กรอบนโยบายการเงินที่ค่อนข้างกว้าง เพื่อต้องการให้คนคาดหวังว่าในอนาคตเงินเฟ้อมันจะต่ำเพื่อให้ดอกเบี้ยระยะยาวมันไม่สูงจนเกินไป ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจมหภาค แต่มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นได้ในระดับเศรษฐกิจจุลภาคหลายด้าน จึงต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาดูแล

แต่ตอนนี้กฎหมายเรายังมีการแยกกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเองก็ดูแลเครื่องมือบางอย่างที่มีผลต่อการเงินโดยรวมของประเทศ เช่น การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงิน ที่บางประเทศใช้เป็นเครื่องมือหลัก แต่ไทยไม่ได้ใช้สิ่งนี้มาเสริมนโยบายการเงิน จริงๆ แล้ว ต้องผสมผสานกัน เพราะ กนง.ดูเครื่องมืออันเดียวมันไม่พอ แม้ที่ผ่านมา คณะกรรมการทั้งสองจะมีการประชุมร่วมกันแต่ก็เป็นเพียงการหารือกันกว้างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีมติอะไร เหมือนเป็นการบริหารงานแบบแยกส่วน การแก้ปัญหาจึงไม่ตรงจุด

นายฉลองภพ แนะว่า แทนที่รัฐมนตรีคลัง และ ธปท.จะขัดแย้งกันภายหลัง ควรตกลงกันในเป้าหมายนโยบายการเงินในปีนั้นให้ชัดเจนว่า จะเน้นความสำคัญในเรื่องอะไร หากกรณีที่เงินเฟ้อไม่เป็นปัญหา และเมื่อตกลงกันแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ ธปท.ไปดำเนินการตามกรอบ แต่หากมีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินเรื่องเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2556 ในข้อสุดท้าย ได้เปิดทางแล้วว่ารัฐมนตรีคลัง และ กนง.อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาส่วนจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย

“ปัญหาปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องการเมืองก็พูดยาก พอเป็นกลายเป็นเรื่องการเมืองมันถึงไม่มีข้อสิ้นสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองว่าถ้าเผื่อทำตามรัฐมนตรีคลัง แม้เค้าอยากจะทำ แต่ถูกรัฐมนตรีคลังสั่งทุกวันๆ บอกให้ทำ ถ้าเค้าทำตลาดก็จะไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีน้ำยาอะไร กลายเป็นว่าการเมืองสั่งได้หมด เลยทำให้ยากขึ้น”

นายฉลองภพ กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลสามารถลงทุนในโครงการ 2 ล้านล้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเท่าที่ดูมีการนำเข้ามาก การเน้นพัฒนาด้านสาขารางที่ไทยไม่มีเทคโนโลยี จึงต้องนำเข้า จะส่งผลให้ขาดดุล ยิ่งรัฐมีแนวทางว่าจะกู้ในประเทศ กู้เงินบาท แต่ต้องไปหาเงินดอลลาร์ และเงินเยนไปซื้อเครื่องจักร ก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่าโดยปริยาย ทั้งนี้ หากรัฐเร่งลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย แรงกดดันเรื่องค่าเงินบาทก็จะหมดไปเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น