xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.เลื่อนสรุปหาผู้ร่วมทุน FLNG “เพ้ง” ค้านเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในโมซัมบิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.สผ.มั่นใจหาพันธมิตรร่วมทุนโครงการ FLNG ออสเตรเลียได้ปลายปีนี้ เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าได้ข้อสรุปกลางปี 56 เหตุมีผู้สนใจหลายรายจึงต้องการคัดเลือกผู้ที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เผยไตรมาส 2 ราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 65-66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ปริมาณการผลิตจ่อลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แม้มีแหล่งมอนทาราเข้ามาเสริม เหตุมีหลายแหล่งปิดซ่อมบำรุง “เพ้ง” ค้าน ปตท.สผ.ไม่ควรเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มที่แหล่งโรวูมาฯ โมซัมบิก เหตุใช้เงินทุนสูงและถือหุ้น 8.5% เหมาะสมแล้ว

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) จากแหล่ง Cash & Maple ที่ออสเตรเลียว่า บริษัทฯ คาดว่าจะสรุปการคัดเลือกพันธมิตรร่วมทุนโครงการ FLNG ได้ในปลายปี 56 เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ เนื่องจากมีผู้แสดงความสนใจเข้ามาหลายรายจึงต้องการคัดเลือกผู้ที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด

หลังจากได้พันธมิตรร่วมทุนแล้วก็จะดำเนินการออกแบบ ประเมินค่าใช้จ่าย รวมทั้งสรุปการซื้อขาย LNG โดย LNG ที่ผลิตได้จะขายให้ ปตท.เข้าไทยประมาณ 2 ล้านตัน/ปี โดยน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2557

ส่วนการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งมอนทารา ออสเตรเลียนั้น บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าแหล่งมอนทาราจะผลิตได้ในเดือน พ.ค.นี้ เบื้องต้นผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1 หมื่นบาร์เรล/วัน จะเพิ่มเป็น 2.4-2.5 หมื่นบาร์เรล/วันภายในสิ้นปีนี้ จากกำลังการผลิตสูงสุด 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความสนใจที่จะร่วมลงทุนผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil) และก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (shale gas) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหลายโครงการ รวมทั้งสนใจยื่นขอสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลที่พม่า โดยจะร่วมกับพันธมิตรเข้าไปลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดำเนินโครงการ (โอเปอเรเตอร์) เพราะ ปตท.สผ.มีแปลงสัมปทานในมือหลายแปลงอยู่แล้ว

นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% มาจากแหล่งสิริกิติ์ที่ผลิตน้ำมันดิบได้เฉลี่ย 3.4 หมื่นบาร์เรล/วัน แหล่งมอนทาราที่คาดว่าทั้งปีผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 1 หมื่นกว่าบาร์เรล/วัน และแหล่งบงกชใต้จะรับรู้การผลิตก๊าซฯ ได้เต็มปี แม้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จะมีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่ง เช่น แหล่งเยตากุน แหล่งยาดานา เป็นต้น ทำให้ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมไตรมาสนี้อาจลดเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แม้ว่าจะมีแหล่งมอนทาราเข้ามาเสริมก็ตาม

นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัวในระดับสูง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าไตรมาส 2 นี้น่าจะอยู่ระดับเฉลี่ยบาร์เรลละ 100 เหรียญสหรัฐบวก/ลบ ทำให้คาดว่าราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยของบริษัทฯ ในไตรมาส 2 นี้น่าจะอยู่ในกรอบ 65-66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงไตรมาส 1/2556 ที่มีราคาขายเฉลี่ยบาร์เรละ 67 เหรียญสหรัฐ

โดยยอมรับว่าปัจจุบันแหล่งออยล์แซนด์ เคเคดี ที่แคนาดามีผลดำเนินงานที่พลาดเป้า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงเกินเป้าที่เคยตั้งไว้ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้ส่งพนักงานเข้าไปร่วมทีมเพื่อผลักดันให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง และผลิตบิทูเมนให้ได้ตามเป้าหมาย 8 หมื่นบาร์เรล/วันในปี 2560 จากปัจจุบันผลิตอยู่ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน

ส่วนการซื้อกิจการ (M&A) แหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ ในต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับโอกาส โดยหากจะซื้อแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมก็จะเน้นแหล่งที่มีการผลิตแล้วเพื่อรับรู้รายได้ทันที แต่ทั้งนี้บริษัทฯ จะรักษาวินัยทางการเงินเอาไว้ โดยอัตราหนี้สินต่อทุนต้องไม่เกิน 0.5 เท่า

“เพ้ง” ค้านซื้อหุ้นแหล่งโมซัมบิกเพิ่ม

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่สนับสนุน ปตท.สผ.เข้าร่วมซื้อหุ้นในแหล่งโรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน (Rovuma Off Shore Area 1) ในโมซัมบิก จาก Anadrako และ Videocon ที่ประกาศขายหุ้นมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 20% เนื่องจากเห็นว่า ปตท.สผ.เพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นสัดส่วน 8.5% ในแปลงดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้เป็นสัดส่วนที่เพียงพออยู่แล้ว หากต้องซื้อหุ้นเพิ่มจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากทำให้ ปตท.สผ.ต้องมีการเพิ่มทุนบริษัทฯ อีกครั้ง

ดังนั้น เห็นว่า ปตท.สผ.ควรกระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมอื่นๆ หรืออาจจะใช้วิธีการรับซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ แทน รวมทั้งหาพันธมิตรร่วมลงทุนเพื่อลดจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน เพราะการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมมีความเสี่ยงและใช้เงินในการลงทุนมาก ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ยังมีนโยบายให้ ปตท.สผ.ลงทุนในต่างประเทศต่อไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

ด้านนายเทวินทร์กล่าวว่า ขอไม่แสดงความเห็นว่า ปตท.สผ.จะยื่นข้อเสนอในการซื้อหุ้นในโครงการนี้หรือไม่เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการขายหุ้นจึงอาจจะไม่เหมาะสมที่จะพูด บริษัทฯ เพิ่งจะเพิ่มทุนไปประมาณ 9 หมื่นล้านบาทเมื่อเร็วๆ นี้ จึงหวังว่าจะไม่ต้องทำการเพิ่มทุนอีกครั้งในสมัยที่ตนยังบริหารงานใน ปตท.สผ.อยู่

ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.35 เท่า และมีนโยบายที่ D/E ไม่เกิน 0.5 เท่า ทำให้สามารถกู้เงินได้เพิ่มอีก 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับกระแสเงินสดที่มีอยู่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ ปตท.สผ.มีเงินลงทุนรวม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หาก ปตท.สผ.ต้องการจะซื้อหุ้นในแหล่งโรวูมา ออฟชอร์ฯ เพิ่มอีก 20% ก็จะต้องเพิ่มทุนอีกครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท ออยล์ แอนด์ เนเชอรัล แก๊ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ONGC) และบริษัท น้ำมันอินเดีย จำกัด (OINL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศอินเดีย มีการเสนอเงื่อนไขการซื้อหุ้น โดยเสนอซื้อราคาประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 170,000-180,000 ล้านบาท

วันนี้ (9 พ.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน และ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระหว่าง ปตท.สผ. กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ความรู้ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน และมุ่งหวังพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไทยในอนาคต

การร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ ปตท.สผ.บรรลุเป้าหมายในการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำระดับโลก โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่ง ปตท.สผ.มีความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้น และมีแผนจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยี ปตท.สผ. (PTTEP Technology Center) ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีขององค์กรเพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น