xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอดส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง ไตรมาสแรก 56 โตกว่าร้อยละ 60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พาณิชย์เผยยอดส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไตรมาสแรก 56 โตกว่าร้อยละ 60 สินค้าเหล็กนำตลาด จีน-ญี่ปุ่นสั่งออเดอร์เพียบ ขณะที่อาเซียนกำลังขยับขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยถึงกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ว่า ไทยส่งออกรวม 2,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 60 เนื่องจากความต้องการวัสดุก่อสร้างที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กซึ่งเป็นสินค้าหลักของสินค้าวัสดุก่อสร้าง เชื่อว่าจะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างปี 2556 มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 10,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มร้อยละ 10 โดยสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.2 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ โดยกลุ่มสินค้าเหล็กมีมูลค่ากว่า 2,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 โดยประเทศที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การนำเข้าจากฮ่องกงเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ที่ได้ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับออสเตรเลีย การยกเลิกการไต่สวน AD สินค้าเหล็กโครงสร้างจากไทยตั้งแต่มิถุนายน 55 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเหล็กของไทยยังคงขยายตัวในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกวัสดุก่อสร้างไปตลาดอาเซียนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) โดยเฉพาะพม่า ยกเว้นเวียดนามที่การส่งออกวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการให้ใช้สินค้าในประเทศ

ทั้งนี้ อาเซียนกำลังกลายเป็นตลาดสำคัญของผู้ส่งออกหลายๆ ราย ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับศักยภาพของตนเอง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดภูมิภาคอาเซียน ตลาดหลักในการส่งออกสินค้า ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 ที่เหลือตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน

“ไทยมีจุดแข็งในความเป็นผู้ส่งออกเหล็กโครงสร้าง (Module) พร้อมการให้บริการแรงงานก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากไทยมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ทั้งทองแดงและเศษเหล็ก เนื่องจากราคาในตลาดมีความผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้น การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านและเทคโนโลยีการผลิต การส่งออกสินค้าหลายรายการมีข้อจำกัดด้านมาตรการทางการค้า ค่าขนส่งมีราคาสูง และขาดแคลนเรือขนส่งแบบเทกอง (Bulk) สำหรับการขนส่งเหล็กไปพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูง เป็นต้น” นางศรีรัตน์กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การผลักดันการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาครัฐจะส่งเสริมและเร่งให้มีการเจรจาเปิด ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้นและพิจารณาเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าก่อนจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอกับอินเดีย และจีน โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก เพื่อจะได้ทราบกำหนดขอบเขตทางการค้าที่จะจัดทำขึ้น เนื่องจากสินค้าเหล็กเป็นสินค้าที่จะต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศน้อยกว่าร้อยละ 40 และเป็นสินค้าที่มีกฎการนำเข้าเฉพาะ (Product Specific Rules) โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างและสาธารณูโภค ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปที่เป็นจุดแข็งของตน หรือขยายรูปแบบเหล็กสำเร็จรูปใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่า(Value Added) อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น