xs
xsm
sm
md
lg

รุมค้านเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนใต้ รฟม.ลั่นจ่ายเพิ่มอีก 120% จากราคาประเมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชุมชนเสริมสิน” ค้านเวนคืนรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) เสนอเปลี่ยนแนวจากสถานีรัฐสภาใหม่-เตาปูน ไปตามถนนประชาราษฎร์สาย 1 เชื่อมสายสีน้ำเงินที่บางโพแทนวิ่งตรงเข้าเตาปูน รฟม.เร่งศึกษาลดผลกระทบเวนคืน ยอมรับปรับแนวทำยาก ชี้การเดินรถไม่เชื่อมต่อ “ยงสิทธิ์” เผยนโยบายคมนาคม ให้จ่ายค่าเวนคืนบวกอีก 120% จากราคาประเมิน มั่นใจช่วยคัดค้านน้อยลง คาดสรุป ก.ย.นี้ ชง ครม.ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนก่อนเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างกำหนดเปิดให้บริการปี 62

เมื่อวันที่ 30 เมษายน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดจัดประชุมปฐมนิเทศงานศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 500 คน โดยจะเป็นการเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ รองรับการเดินทางของประชาชนด้านแนวเหนือ-ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปถึงพื้นที่ด้านใต้ของฝั่งธนบุรีใกล้บริเวณรอยต่อกับ จ.สมุทรปราการ

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยว่า ปัญหาหลักของโครงการคือการเวนคืนช่วงที่ผ่านชุมชน ที่ตั้งสถานี และจุดเลี้ยวโค้ง เบื้องต้นมี 2 จุดหลัก คือ แนวถนนสามเสนมีความกว้างเพียง 20 เมตร ขณะสถานีรถไฟฟ้าต้องใช้พื้นที่กว้าง 25 เมตรดังนั้นจุดที่เป็นสถานีจะต้องมีการเวนคืนตึกแถวด้านข้างเพื่อก่อสร้าง และช่วงสถานีรัฐสภาถึงสถานีเตาปูน (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่งแนวเส้นทางตามแผนแม่บทต้องเวนคืนชุมชนหมู่บ้านเสริมสินประมาณ 100 แปลง โดยขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบข้อดีข้อเสีย 3 ทางเลือกซึ่งจะสรุปผลศึกษาในเดือนกันยายนนี้

โดย 3 แนวทางเลือกประกอบด้วย 1. ยึดตามแผนแม่บทเดิม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) แล้วเมื่อปี 2555 โดยจากสถานีรัฐสภาจะยกระดับเพื่อเชื่อมกับสถานีเตาปูนที่เป็นโครงสร้างยกระดับ เป็นรูปแบบที่ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากที่สุด เพราะสามารถเดินรถได้ต่อเนื่อง หรือจะเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารในสถานีระดับเดียวกัน แต่จะต้องเวนคืนชุมชนเสริมสินประมาณ 100 แปลง 2. เป็นระบบใต้ดินจากสถานีรัฐสภาใหม่จนถึงสถานีเตาปูน สามารถต่อเชื่อมการเดินทางจากสายสีม่วงไปยังสีน้ำเงิน ได้โดยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนขบวนรถแทน รูปแบบนี้จะลดการเวนคืนลงเหลือประมาณ 50 แปลง โดยเวนคืนพื้นที่บางส่วนเพื่อก่อสร้างสถานีใต้ดินและพื้นที่สำหรับสับรางรถไฟฟ้าใต้ดิน

และ 3. เปลี่ยนเส้นทางออกจากสถานีรัฐสภาไปตามถนนประชาราษฎร์สาย 1 เชื่อมกับรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีบางโพแทน โดยให้ผู้โดยสารใช้สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากสถานีบางโพไปยังสถานีเตาปูน เป็นรูปแบบที่ชุมชนเสริมสินเสนอ ไม่ต้องเวนคืน เพราะจะก่อสร้างไปบนเกาะกลางถนนแต่ การเดินรถสีม่วงจะไม่ต่อเนื่อง และทำให้สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงสถานีบางโพ-เตาปูน รับภาระหนักมากเกินไป

“จากผลการศึกษาพบว่า ในปีที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ (บางใหญ่-บางซื่อ) เชื่อมกับ สีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) จะมีผู้โดยสารใช้บริการเชื่อมต่อ 2 สายถึง 86,000 คนต่อวัน ดังนั้นแนวทางที่ 3 จะทำให้สายสีน้ำเงินช่วงสถานีบางโพ-เตาปูน เพียง 1 สถานีต้องขนผู้โดยสารกว่า 100,000 คนต่อวัน และการเดินรถสายสีม่วงก็ไม่ต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องรอที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางที่มีผลกระทบน้อยที่สุดก่อน” นายยงสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นโยบายกระทรวงคมนาคมให้จ่ายค่าเวนคืนกับผู้ได้รับผลกระทบ ในราคาประเมินบวกเพิ่มอีก 120% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการรื้อย้ายอีก 30-40% ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้ถูกเวนคืนพอใจมากขึ้น โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนภายในปี 2556 และขออนุมัติโครงการต้นปี 2557 เริ่มก่อสร้างปลายปี 2557 แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ปลายปี 2562 ทั้งนี้ การเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนก่อนเพื่อให้ส่งมอบที่ดินกับผู้รับเหมาได้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนที่ผ่านมา และกระทบต่อการก่อสร้างให้ล่าช้าไปด้วย โดยโครงการมีมูลค่ารวม 90,000 ล้านบาท โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ประเมินเมื่อปี 2548 ประมาณ 4,000 ล้านบาทโดยการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนใต้นี้ไม่อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เริ่มจัดจากจุดเชื่อมต่อสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่สถานีเตาปูน และเปลี่ยนเป็นใต้ดิน เข้าถนนสามเสนผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิระ หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศวรวิหาร แยกผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินกลาง ถนนมหาไชย วัดราชนัดดา ถนนจักรเพชร ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานพระปกเกล่า เข้าถนนประชาธิปก สีแยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แยกมไหสวรรย์ ถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นยกระดับผ่านแยกจอมทอง แยกประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ราษฎร์บูรณะ สิ้นสุดที่พระประแดง ระยะทาง 21 กิโลเมตร มีโครงสร้างใต้ดิน 13.2 กิโลเมตร ยกระดับ 7.8 กิโลเมตร มี 16 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี ยกระดับ 6 สถานี) มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ที่วงแหวนอุตสาหกรรม และมีอาคารจอดรถ 2 แห่ง บริเวณสถานีราษฎร์บูรณะและศูนย์ซ่อมบำรุง

กำลังโหลดความคิดเห็น