กทพ.เปิดรับฟังความเห็นประชาชน โครงการศึกษาออกแบบก่อสร้างทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 1 แก้ปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะช่วงฝนตก กระทบท่องเที่ยว คาดใช้เวลา 15 เดือนสรุปผล และเดินหน้าประมูลก่อสร้างเป็นอุโมงค์ลอดถึงหาดป่าตอง
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 กทพ.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อนำเสนอข้อมูล ความเป็นมา วัตถุประสงค์ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ จากการประชุมไปพิจารณาวิเคราะห์เพื่อดำเนินโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่น โดยใช้ระยะเวลาศึกษาและออกแบบรายละเอียดรวมทั้งสิ้น 15 เดือน (15 ก.พ. 56 - 14 พ.ค. 57) โดยจะมีการเจาะภูเขาทะลุเชื่อมอ.กระทู้ กับ อ.ป่าตอง ระยะทางประมาณ 3 กม.ขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ วงเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการอุโมงค์ลอดเข้าหาดป่าตอง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งปัจจุบันมีความแออัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อย โดยเฉพาะเวลาฝนตก จนทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง กทพ.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท ดีทูคอนซัลท์ เอเชีย จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงข่ายทางพิเศษสายส่วนต่อเชื่อมจากทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ไปยังอำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์
โดยในการดำเนินโครงการ กทพ.ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโครงการ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้รับรู้รับทราบข้อมูลโครงการอย่างถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ เพื่อนำเสนอข้อมูล ความเป็นมา วัตถุประสงค์ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งคณะผู้ศึกษาจะได้รวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ จากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่น