“ประภัสร์” ค้านตั้งกรมขนส่งทางราง ยันไม่ได้แก้ปัญหา ร.ฟ.ท.จริงและจะทำให้องค์กรสูญพันธุ์ ชี้สาเหตุที่ ร.ฟ.ท.มีหนี้มากเพราะนโยบายของรัฐบาลทุกยุค ไม่ใช่ ร.ฟ.ท.บริหารผิดพลาดเอง ยันหากยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กรมรางไม่มีทางเกิด แนะตั้งกรมรถไฟ ปรับเป็นหน่วยราชการ โอนผลตอบแทนเศรษฐกิจ (IRR) มาหักลบเหมือนกรมทางหลวง
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงคมนาคมที่จะจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้นมากำกับดูแลงานโครงสร้างพื้นฐานทางราง โดยแยกงานก่อสร้างออกจาก ร.ฟ.ท.เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน เนื่องจากหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ที่เกิดขึ้น สาเหตุไม่ได้เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของ ร.ฟ.ท. แต่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลแต่ละสมัยที่ผ่านมาที่ไม่ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามต้นทุน รวมถึงนโยบายเชิงสังคมต่างๆ เช่นรถไฟฟรี และได้หารือเบื้องต้นกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งยืนยันว่ายังไม่อนุมัติเรื่องตั้งกรมการขนส่งทางราง และให้ ร.ฟ.ท.หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้มีความชัดเจนก่อน
ส่วนแนวคิดที่จะให้กรมขนส่งทางราง ก่อสร้างโครงการบนที่ดินของ ร.ฟ.ท.โดยเจรจาแลกกับหนี้สินของ ร.ฟ.ท.นั้นยิ่งไม่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีที่ดิน ร.ฟ.ท.ก็จะไม่เหลืออะไรเลย และถ้าจะให้ทำหน้าที่เดินรถเพียงอย่างเดียวโดยต้องแข่งขันกับเอกชนในการยื่นขอใบอนุญาต หรือประมูลเส้นทาง ร.ฟ.ท.ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะเสียเปรียบเอกชน
เนื่องจาก ร.ฟ.ท.มีต้นทุนการบริหารงานสูงกว่าเพราะมีพนักงานมากกว่า 10,000 คน ขณะที่เอกชนอาจมีพนักงานเพียง 200 คน ร.ฟ.ท.ไม่สามารถกำหนดราคาประมูลที่ต่ำกว่าเอกชนได้แน่นอน
“เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกรมหรือองค์กรอื่นที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบการขนส่งและการเดินทางทางราง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพราะไม่มีการแจ้งให้เข้าร่วมประชุม แต่ยืนยันว่าวันที่ 29 เม.ย.ซึ่งคณะกรรมการฯ จะประชุมอีกครั้ง ผมจะเข้าร่วมแน่นอนเพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าว หากแนวคิดดังกล่าวแก้ปัญหา ร.ฟ.ท.ได้จริงก็ยินดี แต่การตั้งกรมขนส่งทางราง ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและจะยิ่งเป็นการทำให้ ร.ฟ.ท.สูญพันธุ์ไปเลย ผมยืนยันว่าตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.จะไม่มีกรมขนส่งทางรางเกิดได้แน่นอน” นายประภัสร์กล่าว
โดยวิธีแก้ปัญหา ร.ฟ.ท.ที่ควรนำไปพิจารณา คือ ปรับองค์กรจากรัฐวิสาหกิจกลับมาเป็นราชการ เช่น กรมรถไฟหลวงเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากหน่วยงานราชการจะไม่มีบัญชีหนี้สินหรือขาดทุน เช่นเดียวกับกรมทางหลวงที่มีหน้าที่ลงทุนสร้างถนนแต่ไม่มีหนี้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้แบกรับ ในขณะที่ รัฐบาลให้ ร.ฟ.ท.รับผิดชอบงานก่อสร้างระบบรางที่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทเพราะอ้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ในการลงทุน มิใช่ผลตอบ แทนทางการเงิน (FIRR) แสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องรายได้มากไปกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และควรให้นำตัวเลข EIRR ของแต่ละโครงการมาบันทึกในบัญชีการลงทุนเพื่อหักหนี้สินได้ ดังนั้นการลงทุนโครงการเพิ่มจะไม่มีภาระหนี้เพิ่ม