การบินไทยแยกไทยสมายล์ ตั้งเป็นบริษัทย่อย “สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์” ทุน1.4 พันล้าน แยกการบริหารออกโดยเด็ดขาด จากปัจจุบันที่เป็นหน่วยธุรกิจ หวังลดต้นทุน โดยเน้นตลาดเส้นทางสั้น คาดชง ครม.เห็นชอบใน 1 เดือน “สรจักร” ยอมรับกังวลค่าบาทแข็งต่อเนื่องหวั่นกระทบรายได้ทึ่เป็นเงินต่างประเทศถึง 60%
นายอำพน กิตตอำพน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด การบินไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายน รับทราบความคืบหน้าเรื่องโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์เป็นบริษัทย่อย ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเสนอเรื่องต่อปลัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณา โดยหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบจะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอทีประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ บริษัท การบินไทยได้ตั้งสายการบินไทยสมายล์ขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของบริษัท กำหนดบทบาทให้เป็น Sub-brand ของการบินไทยโดยต้องการสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยเน้นความรวดเร็วของการให้บริการ
นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ แอร์เวย์ เป็นบริษัทย่อยของการบินไทยโดยเบื้องต้นกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ประมาณ 1,400 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายใน 1 เดือน หาก ครม.อนุมัติ จะดำเนินการจดทะเบียนบริษัทใหม่ได้ทันที
โดยสายการบินไทยสมายล์จะยังมีการบินไทยถือหุ้น 100% การบริหารจัดการจะแยกออกจากบินไทยอย่างชัดเจน เพื่อลดต้นทุนบริการให้ต่ำลง จะใช้เครื่องบินขนาดเล็กกว่าการบินไทย ไม่มีบริการเต็มรูปแบบเหมือนการบินไทย การบริการจะเน้นระยะทางสั้นเป็นหลักเพื่อให้มีกำไร โดยจะดำเนินการในลักษณะคล้ายกับสายการบินซิลค์แอร์ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ และสายการบินดรากอนแอร์ของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค ที่ให้สายการบินของบริษัทย่อยบินในระยะสั้น เพื่อช่วยเชื่อมโยงการให้บริการของการบินหลัก แต่ในส่วนของไทยสมายล์จะได้เปรียบสายการบินซิลค์ แอร์ เพราะไทยสมายล์สามารถบินเข้าจีน และอินเดียได้ไกลกว่า
เบื้องต้นจะโอนเครื่องบินที่เช่าจากการบินไทยรวม 9 ลำ ไปให้บริการในบริษัทย่อยด้วย ส่วนจะจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมหรือไม่ก็จะต้องพิจารณาต่อไป
นายสรจักรกล่าวว่า การบินไทยเตรียมเพิ่มรายได้จากเงินบาทมากขึ้น หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้คาดว่าการณ์ไว้ที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะเน้นเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่ออกจากกรุงเทพฯ ให้มากกว่าเดิม โดยปัจจุบันการบินไทยพึ่งพาเงินตราต่างประเทศประมาณ 60% และอีก 40% เป็นเงินบาท ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดที่จะต้องพิจารณาหาวิธีการใช้เงินที่มีอยู่ และเพิ่มรายได้จากเงินบาทให้มากกว่านี้
นอกจากนี้ บอร์ดยังได้รับทราบฯ ผลการดำเนินงนด้านการขนส่งประจำดือนมีนาคม 2556 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้จาก 1.79 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เป็น 2.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมของปี 2555 ร้อยะ 13.6 มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger – Kilometer : RPK) และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer : ASK) เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.8 และ 8.2 ตามลำดับ ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) รวมเฉลี่ยร้อยละ 80.3 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 78.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในเส้นทางภูมิภาคจากร้อยละ 76.3 เป็นร้อยละ 81.9 และเส้นทางบินในประเทศจากร้อยละ 77.8 เป็นร้อยละ 79.2 สำหรับหน่วยธุรกิจการบินไทยสมาล์มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 83.3 โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ร้อยละ 86.8 และเที่ยวบินภายในประเทศมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ร้อยละ 82.1