xs
xsm
sm
md
lg

เร่งยกเครื่องคน ร.ฟ.ท.หวั่นมือไม่ถึงทำโครงการ 2 ล้านล้านเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” เร่งปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.แก้ปัญหาการบริหารงานภายใน เตรียมพร้อมรับภาระโครงการใน พ.ร.บ.2 ล้านล้าน ยอมรับปัญหาใหญ่จึงต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ แยก 3 BU เตรียมดึงมืออาชีพทั้ง ADB และบริษัทปูนซีเมนต์ ช่วยแนะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ส่วนไฮสปีดเทรนยังไม่สรุปตั้งบริษัทใหม่บริหารหรือไม่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ (2556-2563) จะมีการก่อสร้างโครงการขนส่งระบบรางในสัดส่วนมากกว่า 80% โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการลงทุนถึง 1.27 ล้านล้านบาท ในขณะที่ต้องยอมรับว่า ร.ฟ.ท.ในปัจจุบันมีปัญหาในการบริหารงานเพราะการกระจายอำนาจภายในไม่ดี ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องเร่งเดินหน้าการปรับโครงสร้างภายในของ ร.ฟ.ท. คู่ขนานไปกับการดำเนินประกวดราคาและก่อสร้าง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีการแยกกำกับดูแลกิจการเป็น 3 หน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) คือ หน่วยธุรกิจการเดินรถ หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุง และหน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สินไว้แล้ว แต่จะต้องทำให้แต่ละหน่วยธุรกิจมีศักยภาพมากกว่านี้ โดยอาจจะต้องให้ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการปรับโครงสร้างองค์เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ช่วยดูในการปรับองค์กรภาพรวม หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด เข้ามาช่วยในเรื่องระบบโลจิสติกส์ เพราะถือว่ามีประสิทธิภาพในงานด้านนี้ นอกจากนี้ ในส่วนของการบริหารทรัพย์สินยังมีปัญหาความเห็นของ ร.ฟ.ท.และ ADB ยังไม่ตรงกันในเรื่องการดูแลทรัพย์สิน ซึ่ง ADB ต้องการให้ส่วนกลาง เช่น กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินรถไฟ แต่ ร.ฟ.ท.ต้องการดูแลเอง เป็นต้น

“ยอมรับว่าความไม่พร้อมของ ร.ฟ.ท.เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข เพราะที่ผ่านมารถไฟ ถูกละเลย ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ส่วนพนักงานรถไฟนั้นมีคุณภาพแต่ต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสม ซึ่งนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ได้ลงไปดูปัญหาแล้วและจะหารือภายในเดือนเมษายนนี้ให้ได้ความชัดเจน ตอนนี้ยังมีเวลาเพราะใน 3 ปีแรกจะเป็นช่วงการก่อสร้างการเตรียมองค์กรจะทำคู่ขนานไป” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะรับผิดชอบการก่อสร้างทั้ง 4 เส้นทาง ส่วนการบริหารนั้นอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งมีทั้งแนวทางตั้งเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท.ขึ้นมาก่อนในระยะแรกและค่อยปรับเป็นบริษัทภายหลัง โดยคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 3 เดือนว่าจะใช้แนวทางใด ส่วนความโปร่งในการประกวดราคาโครงการต่างๆ นั้น โครงการของ ร.ฟ.ท.มีขนาดใหญ่และใช้ประกวดราคาแบบ e-Auction ถือเป็นข้อดี เพราะจะมีการเปิดเผยราคากลางชัดเจนทำให้การแข่งขันยุติธรรม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ภายในเดือนเมษายนนี้จะมีการหารือเพื่อสรุปรูปแบบองค์กรที่จะตั้งขึ้นมาบริหารรถไฟความเร็วสูง โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอให้ตั้งเป็นบริษัทจำกัด หรือรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม ในรูปแบบเดียวกับที่ก่อนหน้านี้เคยมีการจัดตั้งบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด หรือ บทม.ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% หรือ 80% และ ร.ฟ.ท.ถือ 20% จะเหมาะสมและทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้มากกว่าการตั้งเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท.
กำลังโหลดความคิดเห็น