กรมศิลป์จับมือยูเนสโก เปิดแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยมรดกโลกอยุธยา คาดใช้เวลาดำเนินการเสร็จภายใน 2 ปี ฟุ้งเป็นต้นแบบการจัดการน้ำมรดกโลกแห่งแรกในเอเชีย
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร ยูเนสโก ประเทศไทย ร่วมกับกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการจัดทำแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ที่มีบทบาทด้านการบรรเทาอุทกภัย และตัวแทนจากสถานทูคประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา และผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูแหล่งมรดกโลกอยุธยาร่วมแถลงข่าว
นายควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัย ปลายปี 2554 ส่งผลให้แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมกว่า 150 แห่ง ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์แหล่งมรดกโลกที่ได้รับผลกระทบ และระบบการบริหารจัดการน้ำทั่วไป แต่ยังไม่มีการจัดทำโครงการระยะยาวเพื่อปกป้องแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาที่ชัดเจน ดังนั้น ยูเนสโก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จัดทำโครงการ “การจัดทำแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา” ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแหล่งมรดกโลกของเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อให้สถาบันการศึกษาอุทกศาสตร์ยูเนสโกศึกษาการจัดการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย และแผนป้องกันและรองรับอุทกภัย ด้วยการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงระดับน้ำ และรูปแบบการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำเพื่อประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน จากนั้นจะนำผลการประเมินมาพัฒนาแผนป้องกัน และรองรับอุทกภัยร่วมกับอุทกภัยร่วมกับท้องถิ่น โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
ด้านนายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในขณะนี้ สถาบันการศึกษาอุทกศาสตร์แห่งยูเนสโก อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา เพื่อจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมมรดกโลก เช่น การยกพื้นถนน การจัดทำแนวกำแพงป้องกันน้ำ ซึ่งคาดว่าจะได้แผนงานที่ชัดเจนในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นกรมศิลปากรจะนำผลการวิจัยและแนวทางป้องกันมรดกโลกอยุธยา เพื่อจัดทำงบประมาณเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยคาดว่า หากแผนการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จลุล่วง โบราณสถานพระนครศรีอยุธยาจะเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีแผนบริหารจัดการที่รวมการป้องกันและรองรับอุทกภัยไว้ด้วย