โพลเอแบคชี้เก้าอี้นายกฯ “ยิ่งลักษณ์” เผชิญความเสี่ยง อาจเจออุบัติเหตุการเมือง กรณีเงินกู้ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ปชช.ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการเมืองเดือน เม.ย. ร้อนแรงกว่าอากาศแน่
น.ส.ปุณทรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง กระทรวงที่อยากให้ปรับรัฐมนตรี กับอุบัติเหตุทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พะเยา พิษณุโลก เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,457 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.1 คิดว่า กรณีเงินกู้ 30 ล้านบาทของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบอยู่นี้จะกลายเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 38.9 ไม่คิดว่าจะกระทบ
ส่วนกระแสข่าวนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.4 ระบุยังไม่ถึงเวลาในตอนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 27.6 ระบุว่าถึงเวลาแล้ว
ด้าน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสข่าวที่มีการเตรียมบรรจุ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ของรัฐบาลโดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้เงิน 2 ล้านล้าน โดยสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,580 คน ระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2556 สรุปผลได้ดังนี้
ร้อยละ 38.49 มองว่าการกู้เงิน 2 ล้านล้านครั้งนี้ เป็นเงินจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลนำมาใช้พัฒนาประเทศชาติและเพื่อประโยชน์ของประชาชน จะต้องใช้เงินจำนวนนี้อย่างคุ้มค่าและทำได้จริง ขณะที่ร้อยละ 27.62 ประเทศชาติและประชาชนจะต้องแบกรับภาระ/เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามว่าจากการที่รัฐบาลให้เหตุผลของการนำเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ว่า เพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการยกระดับ ประเทศให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันกับต่างประเทศได้ ประชาชนคิดว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ร้อยละ 54.19 บอกว่าสมเหตุสมผล เพราะเป็นการลงทุนที่ส่งผลดีให้กับประเทศในระยะยาว ขณะที่ร้อยละ 45.81 บอกว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นโครงการใหญ่และเกินกำลัง ทำให้ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น
ผลสำรวจยังพบด้วยว่าร้อยละ 58.42 บอกว่าเรื่องที่เป็นห่วงมากที่สุดในการกู้เงิน 2 ล้านล้าน คือการทุจริต คอร์รัปชัน และความโปร่งใสในการดำเนินการของโครงการต่างๆ มากที่สุด ร้อยละ 48.72 ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อาจมีการเคลื่อนไหว ชุมนุมคัดค้านจากกลุ่มคนต่างๆ จนต้องชะลอโครงการนี้ออกไป