ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการพลังงานจี้เลิกอุดหนุนราคาพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะแอลพีจี และเอ็นจีวี แต่ให้อุดหนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชี้การอุดหนุนเป็นปีศาจขวางการพัฒนาประเทศ เผยข้อมูลสถิติบีพีฯ ระบุไทยมีการใช้น้ำมันและก๊าซฯ สูงติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก สูงกว่าเมี่อเทียบอันดับการผลิตและสำรองน้ำมัน-ก๊าซฯ
คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะแอลพีจี และเอ็นจีวี แต่ให้อุดหนุนเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งหากรัฐยังอุดหนุนต่อไปจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เพราะต้องนำภาษีไปอุดหนุนการนำเข้า และไม่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน
ในส่วนของน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลลดการจัดเก็บภาษี 5 บาท/ลิตรนั้น ก็ควรจะทยอยจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล แต่จะเป็นอัตราใดนั้นก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านต้นทุนการขนส่งและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยเห็นว่าเทรนด์ของโลกหันมาผลิตรถเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อลดภาวะโลกร้อน เพราะเครื่องยนต์ดีเซลมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีฐานะดีหันมาซื้อรถหรูเครื่องยนต์ดีเซล ก็ให้มีการจัดเก็บภาษีรถยนต์ประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าการอุดหนุนพลังงานนี้เปรียบเหมือนปีศาจ ซึ่งทั่วโลกต่างจะทยอยเลิกการอุดหนุนไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น เนื่องจากการอุดหนุนราคาพลังงานทำให้ประเทศไม่พัฒนาไปถึงไหน ซึ่งการอุดหนุนราคาพลังงานของไทยทำให้ผู้ใช้รถหันมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้แอลพีจีและดีเซลมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอัตราการใช้พลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น ควรรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จากข้อมูล BP Statistical Review of World Energy ระบุ ในปี 2554 ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองอันดับที่ 47 ของโลก มีสำรอง 0.4 พันล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 0.05 ของสำรองทั้งโลก และ มีการผลิตน้ำมัน เป็นอันดับ 32 ของโลก ที่ 0.35 ล้านบาร์เรล/วัน มีสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการผลิตของโลก แต่การบริโภคน้ำมันของไทยสูงเป็นอันดับที่ 19 ของโลก มีปริมาณการใช้น้ำมันถึง 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 1.2 จากที่โลกมีการใช้ 88 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ส่วนปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของไทยในปี 2554 พบว่ามีสำรองเป็นอันดันที่ 41 ของโลก อยู่ที่ 9.9 ล้านล้าน ลบ.ฟุต เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของโลก มีการผลิตก๊าซฯ อันดับที่ 25 ของโลก มีการผลิต 3,580 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 จากที่โลก แต่การใช้ก๊าซฯของไทยสูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก มีการใช้สูงถึง 4,510 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 1.4 จากที่โลก
จากข้อมูลดังกล่าวนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ไทยมีปริมาณการผลิตพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนร้อย 85 ที่เหลือเป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ส่วนก๊าซธรรมชาติมีการนำเข้าเพียง 25% ที่เหลือเป็นการผลิตจากในประเทศ หากไทยยังมีการใช้พลังงานไม่ประหยัดก็คงต้องมีการนำเข้าพลังงานมากกว่านี้
นายสมเกียรติ จันทร์มหา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานธรณีศาสตร์และโครงการ สำรวจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีอยู่ 20 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) โดยมีการใช้ไปแล้ว 17.5 ล้านล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งหากไทยยังมีการใช้ก๊าซฯอยู่ที่ 4 พันล้าน ลบ.ฟุต/วันหรือเพิ่มขึ้นอีก โดยไม่มีแหล่งปิโตรเลียมใหม่เข้ามาเพิ่มเติม เชื่อว่าก๊าซฯในอ่าวไทยจะค่อยทยอยหมดลงไปใน 8 ปีข้างหน้า
ซึ่งเมื่อแหล่งก๊าซฯ ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า พบว่าต้นทุนการพัฒนาปิโตรเลียมของไทยสูงกว่าพม่า เนื่องจากสภาพธรณีมีความซับซ้อนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ แหล่งยาดานาของพม่า มีปริมาณสำรองก๊าซฯ อยู่ที่ 5.7 ล้านล้าน ลบ.ฟุต มีอัตราการผลิต 740 ล้านล บ.ฟุต/วัน มีการเจาะหลุมผลิตเพียง 13 หลุม ขณะที่แหล่งบงกชเหนือของไทยมีปริมาณสำรองก๊าซฯ 4.5 ล้านล้าน ลบ.ฟุต มีการผลิตอยู่วันละ 600 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน โดยเจาะหลุมผลิตถึง 340 หลุม ซึ่งถือว่าต้นทุนการผลิตก๊าซฯสูงกว่า แต่เนื่องจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นก๊าซธรรมชาติเปียก (WET GAS) ซึ่งสามารถนำไปแยกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีได้ทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า