ผลการศึกษาจาก Institution of Mechanical Engineers สหราชอาณาจักร ระบุว่า อาหารที่ผลิตขึ้นทั้งหมดบนโลกสูญเสียและกลายเป็นขยะถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่เคยตกถึงท้องมนุษย์เลย
แต่ละปี ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลปี 1974 เราสูญเสียอาหารที่ยังกินได้ไปประมาณ 900 แคลอรี่ต่อคน ต่อวัน
แต่ทุกวันนี้ เราเสียอาหารไปถึง 1,400 แคลอรี่ต่อคนต่อวัน
อาหารเหล่านี้ คิดเป็นพลังงานได้ 150,000,000,000,000 (หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านล้าน) แคลอรี่ ที่สูญเสียไปแต่ละปี (เทียบเท่าพลังงานของคนทั้งโลก คือ 7พันล้านคน วิ่งด้วยความเร็ว 5 กม./ชม. เป็นเวลา 3 วันเต็ม)
อาหารที่ถูกทิ้งขว้างไปในสหรัฐอเมริกาแต่ละปี
- สามารถเป็นอาหารของคนได้ 2 พันล้านคน
- ทำให้สูญเสีย ¼ ของน้ำสะอาดทั้งหมดในประเทศ
- สูญเสียน้ำมันไปถึง 300 ล้านบาร์เรล
ทั้งนี้ ในประเทศกำลังพัฒนา การสูญเสียอาหารมักเกิดในขั้นตอนระหว่างทางจากผู้ผลิตที่จะมาถึงผู้บริโภค เช่น การเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ การขนส่งและระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ดี การจัดเก็บทำได้ไม่ดี เช่น ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีผลผลิตข้าวที่สูญเสียไประหว่างทางการเพาะปลูกจนไปถึงโต๊ะอาหาร 37-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ส่วนในประเทศพัฒนาแล้ว การผลิต การขนส่ง และการจัดเก็บ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่วัฒนธรรมการบริโภคสมัยใหม่ ทำให้อาหารถูกทิ้งไปในขั้นตอนค้าปลีก
เช่น ร้านค้าปลีกไม่รับผลผลิตจากเกษตรกรด้วยเหตุผลว่าขนาด รูปร่างไม่ได้มาตรฐาน หรือการทำการตลาดลดราคา ทำให้ผู้บริโภคเน้นซื้อปริมาณมาก แต่สุดท้ายก็เหลือทิ้ง
ปัญหานี้เป็นที่กังวลของหลายหน่วยงานทั่วโลก เพราะขยะอาหารเหล่านั้น แลกมาด้วยทรัพยากรอันมีค่ามากมาย ตั้งแต่ผืนดิน น้ำสะอาด น้ำมัน และแรงงานมนุษย์
ที่มา : http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2082
อ้างอิงรายงาน GLOBAL FOOD : WASTE NOT, WANT NOT. Institution of Mechanical Engineers
ลด “บริโภค-เหลืออาหารทิ้ง” ช่วยลดโลกร้อนได้
สำหรับผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรและยุโรป ก็ระบุว่า การลดการบริโภคและการเหลืออาหารทิ้งโดยไม่จำเป็น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้
ดร.ดาวิด รอย อาจารย์ภาคธรณีศาสตร์ ผู้นำการวิจัยนี้ กล่าวว่า งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อหา ปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารในแต่ละพื้นที่ของโลก ได้ผลสรุปว่า การบริโภคอาหารน้อยลง และการเหลืออาหารทิ้งหรือเน่าเสียน้อยลง เป็นจุดสำคัญในการลดค่าก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น หากเราลดการบริโภคเนื้อไก่ต่อปีลงครึ่งหนึ่ง จาก 25.8 กก. ต่อคนต่อปี อย่างที่สหราชอาณาจักร และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งเป็นอยู่ ให้เหลือเพียง 11.7 กก. ต่อคนต่อปีเหมือนญี่ปุ่นเป็นอยู่ จะมีผลในการลดก๊าซเรือนกระจกเท่าๆ กับการนำรถยนต์นับสิบล้านคัน ออกไปจากท้องถนน ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมีปริมาณมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า ลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ในแต่ละปี สหราชอาณาจักรจะมีผลิตภัณฑ์จากนมเน่าเสียมากกว่า 360,000 ตัน ซึ่งจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระร่วมกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในยุโรป พบว่า นมเน่าเสียปริมาณดังกล่าว จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากถึง 100,000 ตัน เทียบเท่ากับปริมาณไอเสียจากรถยนต์ถึง 20,000 คัน ทีเดียว