- รัฐสภาไซปรัสเตรียมปฏิเสธข้อเรียกร้องของยูโรกรุ๊ปให้ไซปรัสเก็บภาษีเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ไซปรัส เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของไซปรัสกำลังต่อต้านกฎหมายการเก็บภาษีนี้กันอย่างเต็มที่ และประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง ทั้งนี้ ธนาคารหลายแห่งในไซปรัสได้ประกาศปิดทำการและจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้
- มาร์กิตเปิดเผยผลการสำรวจแนวโน้มทางธุรกิจทั่วโลกที่พบว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอันบ่งชี้ถึงการปรับตัวเป็นขาขึ้นของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในการสำรวจแนวโน้มธุรกิจโลกจาก 11,000 บริษัททั่วโลก มีบริษัทที่มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจในอนาคตมากกว่าที่มีมุมมองเป็นลบอยู่ 39% และภาคธุรกิจในประเทศสำคัญที่พัฒนาแล้วทั้งหมดต่างมีมุมมองที่ดีขึ้น โดยสหรัฐมีมุมมองบวกสูงที่สุด ส่วนญี่ปุ่นและยูโรโซนนั้นมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นมาก แม้แต่อิตาลีและสเปนต่างก็มีมุมมองที่ดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มประเทศ BRIC มีเพียงจีนเท่านั้นที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น (หมายเหตุ : ผลสำรวจทำก่อนมีกรณีไซปรัส)
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเยอรมนีสำหรับเดือน มี.ค. ว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 48.5 จุด จาก 48.2 จุดในเดือน ก.พ. สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลง และสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย.53 สะท้อนว่าเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังกลับสู่การขยายตัว หลังจากที่หดตัวในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
- ก.พาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มก่อสร้างบ้านในเดือน ก.พ.ว่าอยู่ที่ 917,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยตัวเลขการเริ่มก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างก็เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือน ก.พ.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 51 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงการฟื้นตัวตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐ และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้
- ธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 7.5% เพื่อกระตุ้นการลงทุนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้
- ก.พาณิชย์จีน รายงานว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนเพิ่มขึ้น 6.32% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไปอยู่ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับแต่ มิ.ย.55 แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเงินลงทุน 9.27 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ม.ค. ทั้งนี้ ภาพรวมมูลค่า FDI ใน 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 1.35% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการลงทุนในภาคบริการขยายตัวได้ 5.49% ในขณะที่การลงทุนในภาคการเกษตรและภาคการผลิตหดตัวลง
- อัลไลแอนซ์ รีเสิร์ช (บริษัทวิจัยของมาเลเซีย) คาดการณ์ว่า GDP ของมาเลเซียอาจขยายตัวได้ 5.5% ในปีนี้จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการลงทุนโดยรวมในปีนี้จะขยายตัวได้ 11.2% โดยเฉพาะในภาคธุรกิจโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การบิน และพลังงาน ในขณะที่ส่วนใหญ่คาดกันว่าการขยายตัวของ GDP มาเลเซียในปีนี้จะอยู่ที่ 5%
- ส.อ.ท. รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.อยู่ที่ 95.5 จุด ลดลงจากเดิม 97.3 จุดในเดือน ม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง พลังงาน หรือ ราคาวัตถุดิบ แต่ดัชนียอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากต่างประเทศ แสดงว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวนั้นได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมากที่สุดคือ ราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน
- ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แม้บาทจะแข็งค่าค่อนข้างมากและเร็วแต่ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษออกมาดูแล โดยจะขอติดตามการเคลื่อนไหวต่อไปอีกระยะหนึ่ง และสาเหตุที่ทำให้แข็งค่าขึ้น มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง จึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามาค่อนข้างมาก
- ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้ ก.คลัง กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งสกุลเงินต่างประเทศหรือเงินบาท โดยผลประโยชน์จากการลงทุนนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์แล้ว ยังจะส่งผลให้ระดับ GDP ที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยในช่วงปี 56-63 ประมาณร้อยละ 1.0 ต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง และแม้ว่าในช่วงแรกจะทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดการนำเข้าพลังงาน
- มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ยืนยันว่าจะยังดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสายการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก หรือ Eco Car รวมทั้งรถยนต์ Hybrid ด้วย ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของมิตซูบิชิ
- SET Index ปิดที่ 1,568.25 จุด ลดลง 23.40 จุด หรือ -1.47% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 76,075 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 969 ล้านบาท และในระหว่างวันได้มีแรงเทขายหุ้นจำนวนมากจนดัชนีลงไปต่ำสุดที่ 1,554.27 จุด ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นเพราะความกังวลว่าธปท.จะมีการออกมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และน่าจะเป็นการขายทำกำไรของนักลงทุนด้วย หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด ทำให้หุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มค้าปลีกบางตัวปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่าง -0.03% ถึง 0.00% ซึ่งตั้งแต่เริ่มสัปดาห์นี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีระดับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันมากขึ้นกว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 50 ปี มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท