xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 19/03/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ปธน. นิคอส อนาสตาเซียเดส ของไซปรัสเรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายเรียกเก็บภาษี      เงินฝาก9.9% สำหรับผู้มีเงินฝากในบัญชีธนาคารมากกว่า 100,000 ยูโรและ 6.75% สำหรับจำนวนเงินที่ต่ำกว่า เพื่อแลกกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นระบบ ธ.พาณิชย์ของไซปรัสจะต้องล่มสลายโดยไม่สามารถควบคุมได้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านของสหรัฐในเดือน มี.ค. ลดลงสู่ 44 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเนื่องจากภาวะขาดแคลนที่ดิน ประกอบกับต้นทุนแรงงานและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าอุปสงค์ต่อบ้านใหม่ในตลาดจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม

  • โจเซฟ สติกลิทช์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชี้ว่า ไม่มีทางที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตได้ถึง 3% ในระยะเวลาอันใกล้และจะไม่สามารถดีขึ้นได้ภายใน 10 ปีจากนี้ เพราะการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบนอกจากจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วยังก่อปัญหาให้ทั่วโลกด้วย แต่หากจะใช้นโยบายรัดเข็มขัดก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง โดยอำนาจรัฐได้บิดเบือนเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาของสหรัฐในขณะนี้คือการลงทุนในประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกับเทคโนโลยี ถึงจะช่วยให้เศรษฐกิจมีความแข็งแรงในระยะยาวได้ 

  • Moody’s ระบุว่า นิติบุคคลเฉพาะกิจของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้บางส่วน (ประมาณ 20% ของหนี้สินทั้งหมด)  เนื่องมาจากฐานะการเงินที่อ่อนแอและมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน ถึงแม้รัฐบาลจีนจะได้กำชับสถาบันการเงินต่างๆให้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่นิติบุคคลเหล่านี้แล้วก็ตาม

  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 0.7% เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐทำให้เกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น

  • ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันของสิงคโปร์ในเดือน ก.พ. ลดลง 30.6% เมื่อเทียบรายปีและ 2.4% เมื่อเทียบรายเดือน เพราะยอดการส่งออกเวชภัณฑ์ยาและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ประกอบกับการที่เศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

  • ธ.โลกประมาณการเศรษฐกิจอินโดนีเซียว่าจะขยายตัว 6.2% ในปีนี้และ 6.5% ในปีหน้า จากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงความยืดหยุ่นทางนโยบายที่สามารถผลักดันการขยายเขตเมืองและขยายตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชากรได้

  • กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ก.คลัง กำลังเตรียมเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยจะออกเป็น พ.ร.ก.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำเป็นที่ 2 ของอาเซียน และมีโอกาสที่จะลดภาษีลดต่ำกว่านี้ได้อีก เพราะมีหลายประเทศที่ยังมีภาษีที่ต่ำกว่า แต่สิ่งสำคัญที่ของการลดภาษีแล้วรัฐบาลจะต้องมีรายได้ที่เพียงพอ และทำให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้ต่ำกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ได้

  • กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยืนยันว่า ยังไม่พบสัญญาณเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จากเงินทุนต่างชาติ เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนจะเป็นการเข้ามาลงทุนผ่านตราสารประเภทต่างๆ ที่มีการซื้อขายกันในตลาดรองมากกว่า

  • ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมรวบรวมรายชื่อให้ได้ 1 ใน 5 เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 20 มี.ค. เพื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นหลัก คือ แก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ซึ่งจะครอบคลุมมาตรา 68 ที่จะมีการแก้ไขว่าต้องเสนอผ่านอัยการเท่านั้น และแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานทุกรัฐบาล เพราะทำให้คู่เจรจารู้ทิศทางของรัฐบาล ซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยยึดเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เป็นต้นแบบ รวมถึงเสนอแก้ไขให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน และไม่มีการกำหนดวาระ




  • SET Index ปิดที่ 1,591.65 จุด ลดลง 6.48 จุด หรือ -0.41% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 65,277 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,609 ล้านบาท เป็นไปตามทิศทางของตลาดหุ้นในต่างประเทศที่ส่วนใหญปรับตัวลดลงอันเนื่องมาจากความกังวลต่อการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป โดยเฉพาะในกรณีแผนการช่วยเหลือล่าสุดต่อไซปรัส โดยปัจจัยอื่นที่ควรติดตามได้แก่ การประชุม FOMC ในวันที่ 19 - 20 มี.ค.




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงเล็กน้อยในทิศทางเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 1 เดือน /3 เดือน /6 เดือน มูลค่ารวม 75,000 ล้านบาท

  • ธ. เพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า ตลาดพันธบัตรของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปีที่แล้วตลาดพันธบัตรของภูมิภาคนี้ขยายตัวถึง 12.1% ทั้งนี้ ได้แนะนำให้รัฐบาลแต่ละประเทศเตรียมพร้อมสำหรับภาวะการไหลกลับของเงินทุนเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น