“กิตติรัตน์” แนะบีโอไอหารือร่วมกับหน่วยงานราชการ-เอกชนเพิ่ม หลัง เตรียมผ่อนปรนเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำ เหลือ 500,000 บาท เปิดทางนำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการ พร้อมรับพิจารณาใช้แรงงานต่างด้าวเป็นรายกรณี แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน หวังกระตุ้นจูงใจเอกชนลงทุนในพื้นที่
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมหลังจากช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ที่บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการขยายระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสูงสุดสำหรับกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557
โดยประเด็นสำคัญของการปรับปรุงนโยบายครั้งนี้จะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นกรณีพิเศษจากปกติสำหรับการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำ จากเดิม 1 ล้านบาท เหลือ 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้ มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท และจะต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าเครื่องจักรใช้แล้ว สำหรับกรณีของความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ บีโอไอจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเป็นรายไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้บีโอไอไปหารือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และภาคเอกชน ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน ในประเด็นข้อเสนอต่างๆ ข้างต้นเพิ่มเติม ก่อนออกประกาศต่อไป
“บีโอไอส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนให้มากที่สุด สำหรับการปรับปรุงนโยบายครั้งนี้เป็นผลมาจากการหารือร่วมกันของบีโอไอกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อให้เกิดแนวทางบูรณาการในการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ จำเป็นที่จะต้องร่วมกันทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้อุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มแข็งต่อไป” นายประเสริฐกล่าว
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ โดยบีโอไอกำหนดให้กิจการทุกประเภทในบัญชีที่เปิดให้การส่งเสริมที่ประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านสังคม และความมั่นคงเป็นพิเศษ โดยได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุด เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 เป็นต้น
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจการนิคมอุตสาหกรรม หรือกิจการเขตอุตสาหกรรม และกิจการที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกิจการที่มีการลงทุนอยู่แล้วไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่หรือไม่ก็ได้ หากขยายการลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุด หากยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557