xs
xsm
sm
md
lg

101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 46 "นักวางแผนทางการเงิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภายใต้สภาวะการณ์ปัจจุบัน ที่ตลาดเงิน-ตลาดทุน มีความผันผวนจนน่าเวียนหัว ถึงแม้จะมีการทำการบ้านอย่างหนัก ในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่การบริหารเงินๆทองๆของเราให้ทำงานแทนเราได้อย่างเต็มที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
  
     ถึงแม้จะมีบริการของ “กองทุนส่วนบุคคล” เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาเรื่องเงินๆทองๆ และบริหารเม็ดเงินของเรา แต่ “ตัวช่วย”ประเภทนี้ก็จำเป็นต้องใช้ต้นทุนทางการเงินสูง ทำให้หลายคนอาจจะยังไม่อยู่ในสถานภาพ หรือ มีฐานะทางการเงินที่ มั่งคั่ง” เพียงพอที่จะไปเลือกใช้บริการที่แสนแพง 
 
     ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ นักวางแผนทางการเงิน ก็ไม่ต่างอะไรกับ “โค้ชส่วนตัว”ที่จะคอยให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองให้กับคุณ  
           
     ลองเปรียบเทียบเรื่องนี้ดูกับ เรื่องใกล้ๆตัวหลายอย่างดูด็ได้ หากคุณต้องลงมือทำอะไรสักอย่างที่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี ภาษี กฏหมาย หรือแม้แต่ เรื่องสุขภาพ คุณก็ต้องใช้บริการของที่ปรึกษาในด้านนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และตรงกับเป้าหมายที่คุณวางไว้ 
 
     สำหรับคนที่ชอบไปออกกำลังกายตาม “ฟิตเนส” หากต้องการที่จะดูดีและรักษารูปร่างให้สวยงาม ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก ครูฝึกส่วนตัว (Personal Trainer) เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และยังจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นที่ดีที่จะบังคับและกดดันให้เราก้าวเดินต่อไปไม่ล้มเลิกกลางคัน ในยามที่เรารู้สึกขี้เกียจ
 
     เพราะอย่างนี้ การเลือกใช้บริการของนักวางแผนการเงิน ไม่ว่าคุณจะมีเวลาที่จะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวคุณเอง หรือขยันขนาดไหน แต่การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นักวางแผนการเงินจะทำให้คุณได้รับความสะดวกและให้ความช่วยเหลือได้อย่างมาก
 
     แต่คุณก็ไม่ควรจะรีบออกไปจ้างใครก็ได้ให้เป็นผู้วางแผนการเงินของคุณ การเลือกนักวางแผนการเงินก็เหมือนกับการเลือกครูฝึกส่วนตัวหรือสถาปนิก นี่เป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งหมดเป็นความต้องการของคุณ ดังนั้นคุณจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ และทราบถึงความต้องการของคุณก่อนที่จะเริ่มการว่าจ้าง
 
     ความรู้สึกประทับใจครั้งแรก (First impression) เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยสิ่งที่คุณควรรู้เป็นลำดับแรกก็คือ ระดับการทำงานหรือความสามารถ ซึ่งจะดูได้จากตัวอักษรที่ปรากฏหลังชื่อบนนามบัตรของเขา แต่ปัจจุบันมีประกาศนียบัตรหลายรูปแบบเหลือเกิน ซึ่งแต่ละแบบจะมีความสำคัญและน้ำหนักที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นคุณควรจะศึกษาให้ดีถึงความหมายของอักษรย่อต่างๆ
 
     คุณไม่ใช่คนเดียวที่อาจจะไม่สามารถที่จะบอกข้อแตกต่างระหว่าง CFP, CFA, ChFC หรือประกาศนียบัตรประเภทอื่นๆ อย่าง FP หรือ IP
 
     แต่เครดิตสำหรับคนที่จะทำหน้าที่นักวางแผนทางการเงินมืออาชีพจริงๆนั้น คือ Certified Financial Planner (CFP) ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผ่านการจัดตั้งของ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association, TFPA) โดยลูกค้าของ CFP สามารถตรวจสอบได้ว่านักวางแผนการเงินของตนได้รับการรับรองจากสมาคมฯหรือไม่
 
     คนที่จะได้เครดิตเป็น CFP ได้จะต้องแสดงความสามารถเกี่ยวกับการวางแผนการเงินในทุกรูปแบบ โดยผู้สมัครจะต้องผ่านการอบรมกว่า 100 หัวข้อ สามารถวิเคราะห์สุขภาพการเงิน พอร์ตการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร ภาษี ประกันภัย ไปจนถึงการช่วยในการวางแผนการเกษียณ และการวางแผนมรดก รวมทั้งต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎจรรยาบรรณและวิชาชีพและมาตรฐานของการวางแผนการเงินของคณะกรรมการ CFP
 
     เครดิตของ CFP ที่พิมพ์อยู่บนนามบัตร อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่คุณใช้ในการคัดเลือกนักวางแผนการเงิน แต่นักวางแผนการเงินที่มีประสบการณ์สูงและมีผลปฏิบัติงานที่ดี ก็มักจะได้รับค่าจ้างที่สูงกว่านักวางแผนการลงทุนที่เพิ่งจบการศึกษาและมีประสบการณ์น้อย แต่อีกนั่นแหละคนที่มีประสบการณ์มากก็ใช่ว่าจะเป็นคนเก่งหรือเหมาะสมกับเราเสมอไป
 
     ในการเปรียบเทียบนักวางแผนการเงินคุณควรจะมั่นใจว่า เขาเข้าใจเป้าหมายที่ตั้งไว้ของคุณหรือไม่ และเขาได้อธิบายแนวทางการลงทุนที่จะนำไปสูงเป้าหมายดังกล่าวอย่างละเอียดหรือไม่
 
     ความเป็นอิสระถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สถาบันการเงินส่วนมากจะไม่ชอบให้ลูกค้าไปลงทุนในสินค้านอกเหนือจากสินค้าของสถาบันตนเองสังกัด ทำให้ นักวางแผนการเงินมักจะไม่เสนอและไม่แนะนำสินค้าของอีกสถาบันให้คุณพิจารณา 
 
     บางคนอาจจะมาในฐานะคนขายประกันภัย บางคนอาจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งสามารถหารายได้เพิ่มจาก commission ในการขายสินค้าอื่นๆ
 
     เพราะอย่างนั้น นักวางแผนการเงินที่ดีของคุณควรจะมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ของคุณเป็นลำดับแรก และจะต้องไม่หมกมุ่นกับการต้องหากำไรให้กับกองทุนรวมรายใหญ่หรือบริษัทประกันภัยที่เป็นบริษัทนายจ้างของตนเอง
 
     นักวางแผนการเงินที่ดีจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของคุณโดยการเสนอแผนการลงทุนที่ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่ การเกษียณ การศึกษาบุตรธิดา ภาษี ประกันภัย และการวางแผนมรดก และนักวางแผนการเงินจะต้องแจ้งค่าจ้างให้ทราบอย่างชัดเจน 
 
     ตามปกตินักวางแผนการเงินจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 30,000 - 50,000 บาท สำหรับแผนการลงทุนรวม ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแผนดังกล่าว
 
     เมื่อจัดทำแผนการลงทุนเสร็จแล้ว คุณสามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าว โดยผ่านโบรคเกอร์หุ้น พนักงานขายกองทุน หรือประกันภัย แต่หากนักวางแผนการเงินของคุณต้องการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ก็จะต้องแสดงให้คุณทราบถึงผลตอบแทนที่เขาจะได้รับจากเจ้าของสินค้า(Products Providers)
การเลือกนักวางแผนการเงินที่เหมาะสมที่สุดจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจในความต้องการและเป้าหมายของคุณซึ่งปัจจุบันหากสนใจจะใช้บริการของนักวางแผนทางการเงิน อาจเริ่มต้นจากการสอบถามไปที่สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
 
     ปัจจุบันนักวางแผนทางการเงินที่ผ่านการอบรมและสอบจนได้ประกาศนียบัตร CFP ยังมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะมีสังกัดคือทำงานอยู่ในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ แต่ก็เริ่มมีหลายคนที่มองเห็นโอกาส และเดินมาอยู่ฝั่งของผู้ลงทุนอย่างเต็มตัวมากขึ้น 
 
     ถึงแม้อาชีพของนักวางแผนทางการเงินยังอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่แนวโน้มการให้บริการประเภทนี้ก็น่าจะขยายตัวมากขึ้นและอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบางคนที่ต้องการหามืออาชีพมาเป็นตัวช่วยในการช่วยให้เงินทำงานแทนเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น