“ชัชชาติ” เตรียมนัด “สุขุมพันธุ์” หารือแก้ปัญหาจราจรใน กทม.ร่วมกัน หลังระดมเจ้าหน้าที่ลุยแก้ 4 ถนนสายหลักได้ผล ชี้ต้องจัดระเบียบทางเท้าร่วมด้วยแต่ปัญหาหาบเร่แผงลอยต้องให้ กทม.ช่วย พร้อมเร่ง กทม.เคลียร์โครงสร้างอุโมงค์สามแยกไฟฉาย เหตุทำรถไฟฟ้าสีน้ำเงินล่าช้าไปด้วย ยันทำงานร่วมกันได้แม้คนละพรรค ด้าน “พฤณท์” สั่ง กทพ.เร่งเพิ่มทางขึ้นลงทางด่วนอีก 8 จุด ช่วยระบายจราจรพื้นราบ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาจราจรในถนนสายหลักในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งหมด 26 เส้นทางเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่ได้ดำเนินการมากว่า 3 เดือนแล้ว เช่น ถนนพระราม 4, พญาไท-จตุจักร, ราชดำริ-ดินแดงและลาดพร้าว ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้การแก้ปัญหาจราจรได้ผลมากขึ้นจะต้องขอความร่วมมือจากกทม.ด้วยซึ่งหลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ผ่านการรับรองจากกกต.และเข้ารับตำแหน่งแล้วจะเชิญมาหารือเพื่อแก้ปัญหาจราจรร่วมกัน
ทั้งนี้ ปัญหาหลายอย่างอยู่ในอำนาจของ กทม. เช่น บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีหาบเร่แผงลอยประชาชนต้องลงมาเดินบนถนน มีรถจอดส่งของทำให้เสียผิวจราจรไป 1 ช่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจเข้าไปจัดระเบียบทางเท้า รวมถึงที่ กทม.มีกล้อง CCTV กว่า 20,000 ตัวจะสามารถนำมาช่วยในการจัดจราจรอย่างไร
นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาจราจรร่วมกันแล้วต้องการหารือกับผู้ว่าฯ กทม.ในเรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายของ กทม.ที่ได้ต่อสัญญากับบริษัท บีทีเอส ไปนั้น มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพราะมีเส้นทางที่ต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ผ่านมายังไม่ทราบว่ารายละเอียดการเดินรถหรือว่าใครเป็นเจ้าของโครงสร้างและศูนย์ซ่อมบำรุงกันแน่และหากรฟม.จะนำรถไปวิ่งบนเส้นทางของบีทีเอสจะเป็นอย่างไร
พร้อมกันนี้จะต้องหารือถึงปัญหาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) แนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์สามแยกไฟฉายของ กทม.ที่มีการปรับแบบหลายครั้ง ทำให้รถไฟฟ้ายังไม่สามารถก่อสร้างในส่วนนี้ได้และทำให้เกิดความล่าช้า
“การแก้ปัญหาจราจรก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะออกมาอย่างไร ยืนยันว่าแม้เป็นคนละพรรคก็ไม่มีปัญหา เพราะถึง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญจะชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ต้องเชิญมาหารือเหมือนกัน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากตำรวจจรจรเป็นอย่างดี ส่วนผู้ว่าฯกทม.นั้นเป็นกรรมการในอนุฯ เร่งรัดการจัดการจราจร แต่ที่ผ่านมาส่งผู้แทนมาประชุม ส่วนเทศกิจยังไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอยอย่างจริงจัง จึงอยากคุยนอกรอบกับผู้ว่าฯ กทม.เป้าหมายยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก” นายชัชชาติกล่าว
“พฤณท์” จี้ กทพ.เพิ่มทางขึ้นลงทางด่วน
ด้าน พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาและออกแบบทางขึ้น-ลงทางด่วน เพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาจราจรในภาพรวม โดยแบ่งเป็นในความรับผิดชอบของ กทพ.2 โครงการ คือ ทางลงถนนประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณโยธินพัฒนา งบศึกษาออกแบบ 17 ล้านบาท และอยู่ระหว่างตั้งงบประมาณปี 2557 ก่อสร้าง และทางลงจากกาญจนาภิเษกเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ วงเงิน 138 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 20 เดือนอยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณ และอีก 6 โครงการจะอยู่ในแนวสายทางพิเศษที่อยู่ในสัญญาสัมปทานของบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ประกอบด้วย ทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน, ทางลงจากยมราช (ทางพิเศษศรีรัช) เข้าสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่, ทางลงจากทางพิเศษศรีรัชเข้าสู่ถนนพระราม 4 (ทางลงหัวลำโพง), ทางลงจากทางพิเศษศรีรัชเข้าสู่ถนนพระราม 9, ทางลงจากทางพิเศษศรีรัชเข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก (ทางลงประชานุกูล) และทางแยกต่างระดับมักกะสันกับโครงการจตุรทิศ ของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จเร็วขึ้น เช่น ทางแยกต่างระดับอาจณรงค์จะเร่งรัดให้เสร็จภายในปลายปี 2556 จากแผนเดือน เม.ย. 2557 และให้ศึกษาออกแบบรายละเอียดเร่งด่วนเพิ่มเติม บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางขุนเทียน, ด่านเก็บค่าผ่านทางบางแก้ว และบริเวณถนนประชาอุทิศ ซึ่งเป็นการปรับปรุงทางกายภาพ ซึ่งมีบริษัทยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาเพื่อเป็นที่ปรึกษาออกแบบ 2 บริษัท ประกอบด้วย 1. บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด 2. บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด โดยจะใช้ระยะเวลาศึกษาความเหมาะสม 9 เดือน