“กลุ่มมิตรผล” เร่งปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับวิกฤตพลังงาน พร้อมหยุด 5 โรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ยันไม่กระทบต่อระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า เพื่อช่วยป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมความมั่นคงของกระแสไฟฟ้าในวันที่ 5 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าหยุดซ่อมแซมแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ถึง 26,300 เมกะวัตต์ กลุ่มมิตรผลเตรียมสนับสนุนภาครัฐโดยหยุดการผลิตชั่วคราวใน 5 โรงงานในส่วนของน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แต่จะไม่กระทบกับระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย
สำหรับการประหยัดกระแสไฟฟ้านั้น จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าคงเหลือในกลุ่มมิตรผลเพิ่มขึ้นสามารถขายได้เต็มสัญญา non-firm จำนวน 96 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากที่มีสัญญาขายไฟฟ้า ประเภท SPP Firm PPA FIRM ให้กับ กฟผ.อยู่แล้ว 76 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าด่านช้าง 37 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าภูเขียวอีก 39 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลสามารถขายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5 เมษายนนี้ได้รวม 170 เมกะวัตต์
นายกฤษฎากล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำตาลมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นของตนเองไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะจากชีวะมวล รวม 1,700 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน 2 เขื่อน หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าปรมาณู 1-2 โรง คิดเป็นร้อยละ 2 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลทุกแห่งสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นได้อีกเป็น 2,600 เมกะวัตต์ได้ภายใน 3-5 ปี แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในแง่การให้ความสำคัญในการรับซื้อ บวกกับส่งเสริมการปลูกอ้อยให้มีปริมาณเพิ่มจากปีละ 90 ล้านตัน เป็น 150 ล้านตัน พร้อมกับส่งเสริมระบบโซนนิ่งการเกษตรในการปลูกพืชและดูแลราคา มีระบบชลประทานเข้ามาช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนอยู่แล้ว ราคารับซื้อปัจจุบันอิง 2 ราคา ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมายังมีส่วนเพิ่มให้หน่วยละ 30 สตางค์ แต่ปัจจุบันมีการพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ เพราะพิจารณาถึงการผลิตจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นด้วย จะเห็นได้ว่าเชื่อมโยงกับพืชผลทางการเกษตร