xs
xsm
sm
md
lg

SSI กระอักขาดทุน 1.59 หมื่นล้าน มั่นใจปีนี้ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สหวิริยาสตีลฯ แจงขาดทุนงวดปี 2555 พุ่ง 1.59 หมื่นล้านบาท เหตุความล่าช้าการดำเนินผลิตของโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษ และต้นทุนสูง ราคาเหล็กลดลงจากผลพวงเศรษฐกิจโลก คาดปีนี้แนวโน้มราคาเหล็กโลกดีขึ้นกลับสู่ภาวะปกติก ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศ 17.5 ล้านตัน

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 17,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13,008 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นรายได้รายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขายเหล็กรวม 8.11 แสนตัน มี EBITDA ติดลบ 2,078 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 3,259 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 4,782 ล้านบาทในไตรมาส 3/2555 และ EBITDA ติดลบ 1,985 ล้านบาท ขาดทุน 2,376 ล้านบาทในไตรมาส 4/2554

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 1 ปี 2555 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 60,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 47,975 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26 และมีผลขาดทุนสุทธิ 15,903 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 981 ล้านบาทในปี 2554

สาเหตุที่การดำเนินงานของบริษัทฯ มีผลขาดทุนเนื่องจากความล่าช้าของการเริ่มดำเนินการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ต้นทุนการผลิตของโรงถลุงเหล็กยังสูงเนื่องจากการผลิตยังไม่ถึงระดับที่เหมาะสม การลดลงของราคาเหล็กในตลาดโลกทำให้ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลง และการตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบ แต่ท่ามกลางตลาดที่ท้าทายนี้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด สร้างยอดขายได้สูงกว่าปี 2554 ถึงร้อยละ 26 เนื่องจากเริ่มได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการเชื่อมโยงกับธุรกิจต้นนํ้า หรือโรงงานเอสเอสไอ ทีไซด์

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า ปี 2555 เป็นปีที่ยากลำบากมากสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้บริษัทเหล็กและเหมืองแร่ทั่วโลกต่างประสบภาวะขาดทุนกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ สามารถทำยอดขายเหล็กแผ่นรีดร้อนได้สูงมาก โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง และสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้มาก การผลิตที่โรงงานทีไซด์และโรงงานบางสะพานแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และเราเริ่มเห็นผลประโยชน์ร่วมจากการเชื่อมโยงธุรกิจแนวดิ่งแล้ว

นอกเหนือจากนั้น บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียและพันธมิตรเป็นอย่างดี จนถึงวันนี้บริษัทได้ระดมทุนถึง 6,184 ล้านบาทจากการขายหุ้นเพิ่มทุนและ 1,568 ล้านบาทจากการขายทรัพย์สิน และบริษัทจะเดินหน้าดำเนินการตามแผนการเพิ่มทุนและจัดโครงสร้างทางการเงินแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อระดมทุนเพิ่มเติมและเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินต่อไป

หลังจากปลายปีที่ผ่านมา ตลาดเหล็กปัจจุบันกลับมาเป็นขาขึ้นหลังจากซบเซามานาน 6 เดือน ภาวะปัจจัยภายนอกดี-ความต้องการใช้เหล็กในประเทศสูง อุตสาหกรรมเหล็กมีมาร์จิ้นดีขึ้นปีนี้ ในขณะที่เรามีปัจจัยภายใน 3 รายการใหญ่ๆ ที่จะขับเคลื่อนบริษัทไปในทางบวกในปีนี้ คือ สเกลธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น จากการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นที่โรงงานทั้ง 2 โรง ต้นทุนการผลิตเหล็กแท่งที่จะลดลง หลังโครงการ PCI เริ่มใช้งานในไตรมาส 2 และมาร์จิ้นสูงขึ้น จากสัดส่วนสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ

บริษัทคาดการณ์ว่าการบริโภคเหล็กในปี 2556 จะปรับตัวสูงขึ้นจากความชัดเจนของมาตรการแก้ไขการคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจโลก สถาบันเหล็กโลก (World Steel Association : WSA) ได้ประเมินว่า ในปี 2556 ความต้องการเหล็กของโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.2 หรือเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1,455 ล้านตัน โดยจีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ของโลก โดยภูมิภาคอาเซียนนั้น คาดการณ์อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้เหล็กร้อยละ 3.3 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 56.5 ล้านตัน

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศนั้น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) คาดการณ์ว่าความต้องการเหล็กในประเทศในปี 2556 จะขยายตัวในอัตรา ร้อยละ 7.2 หรือมีความต้องการประมาณ 17.5 ล้านตัน โดยความต้องการของเหล็กทรงแบนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มขึ้น จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ยังมีรถยนต์ค้างส่งมอบ และในส่วนของเหล็กสำหรับการก่อสร้าง คาดว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างจะมีการขยายตัวตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น