“KMP” ลงทุน 600 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์เต็มที่ รับตลาดเติบโตดี หวังเจาะตลาดโมเดิร์นเทรดและส่งออกเพิ่มขึ้น หลังชิง 40% จากตลาดรวม 2.5 พันล้านบาทในปี 2555
นายพัสกร กมลสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด (KMP) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอาหารและเครื่องดื่มประเภทใช้แล้วทิ้ง เปิดเผยว่า จากนโยบายและการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจค้าปลีกอาหาร โรงแรม ภัตตาคาร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป ทั้งยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร
ตลาดรวมของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท แยกเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ส่วนผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอาหารและเครื่องดื่มประเภทใช้แล้วทิ้งมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.5 พันล้านบาท โดยในส่วนของ KMP สามารถทำยอดขายในปี 2555ประมาณ 715 ล้านบาท หรือประมาณ 40% ถือเป็นผู้นำตลาดในส่วนนี้
“สำหรับปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10% เราจึงตั้งเป้าว่าจะสามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 18% หรือประมาณ 1 พันล้านบาท จึงได้มีการใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาทในการเปิดโรงงานใหม่บริเวณถนนเทพารักษ์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณช่วงปลายปี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากวันละ 3 ล้านชิ้นเป็นวันละ 4.5 ล้านชิ้น”
การขยายโรงงานเพื่อเพิ่มการผลิตในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นแผนรองรับการขยายตัวของธุรกิจอาหารในประเทศแล้วยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งออกอีกด้วย เพราะปัจจุบันบริษัทเน้นทำการตลาดภายในประเทศมากกว่า 90% โดยมีการส่งออกประมาณ 3-5% เท่านั้น แต่คาดว่าภายใน 3-5 ปีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว บริษัทจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกได้มากถึง 10-15% โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษใส่อาหารแหล่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ดังชั้นนำ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ 7-11, KFC, Swensens, MC Donald’s, S&P, Mister Donut, Auntie Anne, Au Bon Pain และอื่นๆ อีกมากมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ขณะที่มีลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 20% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วไปประมาณ 10% โดยภายในปี 2556 จะเริ่มทำการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายประเภทโมเดิร์นเทรดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการใช้งาน โดยได้พัฒนาถ้วยกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบด้วยพลาสติกชีวภาพ Poly Butylene Succinate (PBS) ที่ย่อยสลายได้สมบูรณ์โดยธรรมชาติ หรือ Biodegradable ซึ่งเป็นถ้วยกระดาษที่สามารถกำจัดได้โดยการฝังกลบหลังการใช้งานภายใน 12-16 สัปดาห์