xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.จี้รัฐหนุน “ไบโอพลาสติก” จริงจัง หวั่นนักลงทุนแห่ไปมาเลย์แทนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้าเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ 7 แสนตัน/ปี ยันปีนี้เห็นการลงทุนผลิต PBS และPLA ในไทยเพื่อก้าวสู่ไบโอพลาสติกฮับในภูมิภาคนี้ เตือนรัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนก่อนต่างชาติหนีไปซบมาเลย์

นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แผนและบริหารในเครือหน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) 7 แสนตันต่อปีภายใต้ Green Road Map เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Hub) ในภูมิภาคนี้

โดยปีนี้มีแผนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ชนิด PBS กำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปีในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย มาบตาพุด จ.ระยอง ใช้เงินลงทุน 230 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.9 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับมิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น หรือ เอ็มซีซี ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ในประเทศไทยด้วย หลังจากบริษัทเนเจอร์เวิร์ก ของสหรัฐฯ มีแผนจะตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในเอเชีย โดยไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งรัฐบาลต้องออกมาตรการสนับสนุนเพื่อดึงการลงทุนดังกล่าวมาไทย เนื่องจากพลาสติกชีวภาพ PLA เป็นพลาสติกที่มีอนาคตดี

ทั้งนี้ ปตท.ยังมีความมั่นใจว่าทางเนเจอร์เวิร์กจะตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบทั้งน้ำตาลและมันสำปะหลัง และมีผู้ประกอบการที่จะนำ PLA ไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วย โดยเฟสแรกจะตั้งโรงงานผลิต PLA ขนาดกำลังผลิต 7 หมื่นตัน/ปี

ปัจจุบันบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อหุ้นในเนเจอร์เวิร์กคิดเป็นสัดส่วน 50% โดยเนเจอร์เวิร์กมีโรงงานผลิต PLA ขนาด 1.4 แสนตัน/ปีที่สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ปตท.ยังจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพอื่นๆ เช่น ไบโอพีพี ไบโอพีอี ไบโอพีวีซี และไบโอพีทีเอ ซึ่งพลาสติกชีวภาพเหล่านี้ไม่ย่อยสลายได้เหมือนกับ PBS และ PLA แต่มีข้อดีด้านการนำไปใช้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ดีเหมือนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม

นายชวลิตกล่าวต่อไปว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องอาศัยภาครัฐเป็นผู้เริ่มต้นในการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติด้วย เช่น รัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมการลงทุนพลาสติกชีวภาพ โดยอุดหนุนราคาน้ำตาล 3.5 เซ็นต์/ปอนด์เป็นเวลา 3 ปี จัดหาพื้นที่ตั้งโรงงานเพื่อลดต้นทุน และให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปโดยใช้วัตถุดิบจากเศษปาล์มก็จะขายให้ราคาถูก นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนบีโอไอของไทย

อย่างไรก็ตาม ไทยมีการบรรจุแผนพัฒนาฯ พลาสติกชีวภาพเป็นวาระแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการศึกษาว่ารัฐควรมีมาตรการใดๆ เสริมบ้างเพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบทั้งด้านวัตถุดิบ นักวิจัย และจะสร้างห้องแล็บเพื่อตรวจสอบมาตรฐานสินค้าด้วย ขณะเดียวกัน ทาง ปตท.มีพื้นที่ 1.5 พันไร่ในนิคมฯ เอเชีย ซึ่งจะกันพื้นที่ไว้ 450 ไร่สำหรับการลงทุนพลาสติกชีวภาพ โดยจะให้เช่าพื้นที่เป็นเวลา 30 ปีสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยด้วย

ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมายการผลิตไบโอพลาสติกปีละ 9 แสนตัน ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนไบโอพลาสติกนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกลุ่ม ปตท.

“ที่ผ่านมา ปตท.มีการเจรจากับบริษัทชั้นนำต่างชาติที่สนใจลงทุนไบโอพลาสติก และไบโอเคมิคอลหลายราย พบว่าบริษัทเหล่านี้ได้เคยหารือกับมาเลเซียมาแล้ว ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ไว้”

ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สนข. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และกลุ่ม ปตท. เตรียมจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงนิทรรศการนานาชาติด้านพลาสติกชีวภาพ : InnoBioPlast 2013 ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2556 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น