อนาคตอุตสาหกรรมบรอดคาสติ้งถึงจุดเปลี่ยน จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล เชื่อใน 5 ปี ใช้งบลงทุนรวมทะลุ 60,000 ล้านบาท ชี้ขาลงแซตเทิลไลเชื่อถึงจุดอิ่มตัว ดิ้นสู่ระบบดิจิตอลผ่านกล่องรับสัญญาณเป็นเอชดี ส่วนเคเบิลทีวีรายเล็กฮึดสู้คาดลงทุนกว่า 6,250 ล้านบาท ปรับโมเดลเป็นเคเบิลในระบบดิจิตอล กูรูชี้การลงทุนดิจิตอลทีวีต้นทุนสูง หากเปิดให้ประมูลเพียง 48 ช่อง อาจไม่คุ้มทุน แต่มั่นใจเม็ดเงินโฆษณาจะโตขึ้น 4 เท่า จากฐานโฆษณาฟรีทีวีที่ 60,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
อนาคตอุตสาหกรรมบรอดคาสติ้งของประเทศไทย กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการเปลี่ยนผ่านจากระบบส่งสัญญาณแบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอลในทุกแพลตฟอร์ม ประเมินเม็ดเงินแล้วลงทุนครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีจากนี้
นายอนุพนธ์ เตจ๊ะวันโน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เซอร์วิส โพรไวเดอร์ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านระบบเครือข่าย เน็ตเวิร์ค อินเทอร์เน็ต ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ และซอฟทต์แวร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรอดคาสติ้งของไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอลอย่างแท้จริงทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องของทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่อง ที่ทาง กสทช.จะเปิดให้มีการประมูล ซึ่งส่งผลต่อแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่จะต้องปรับตัวแข่งขัน ทั้งเคเบิลทีวี และแซตเทิลไลต์ทีวี โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หัวใจสำคัญ คือ เรื่องของคอนเทนต์ ดังนั้นระบบการออกอากาศจึงนำไปสู่ในทิศทางเดียวกัน คือ ระบบดิจิตอล เพื่อที่จะสามารถรองรับช่องรายการที่มีความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น คาดว่าในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ ทั้งอุตสาหกรรมฯ จะใช้เม็ดเงินการลงทุนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท
ทีวีดิจิตอล เงินลงทุนร่วม 52,800 ล้านบาท
ในส่วนของทีวีดิจิตอลนั้น เทียบจากค่าใช้จ่ายบนพื้นฐานของแซตเทิลไลต์ทีวี ที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ 800,000 บาท โดยรวมแล้วคาดว่าทีวีดิจิตอลจะมีเม็ดเงินการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 52,800 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าโครงข่าย ราว 15,000 ล้านบาท 2. ค่าเซตท็อปบ็อกซ์ ในอัตรา 22 ล้านครัวเรือน คิดเป็นการลงทุนที่ 33,000 ล้านบาท 3. ค่าโปรดักชัน บริหารสถานี และคอนเทนต์ 4,800 ล้านบาทต่อปี
สำหรับทีวีดิจิตอล ทาง กสทช.ได้เตรียมให้มีการประมูลทั้งสิ้น 48 ช่อง ประกอบด้วย ทีวีสาธารณะและชุมชน 24 ช่อง และอีก 24 ช่องเป็นทีวีภาคธุรกิจที่สามารถหารายได้ ได้แก่ ช่องรายการทั่วไป 4 ช่องแบบเอชดี และ 10 ช่อง แบบเอสดี ช่องเด็กและครอบครัว 5 ช่อง และช่องข่าว 5 ช่อง ซึ่งแต่ละรายที่สนใจเข้าประมูลในแต่ละช่องนั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายหลัก 4 ด้าน คือ 1. คอนเทนต์ 2.ค่าธรรมเนียม 4% ต่อปี 3. ค่าเช่าโครงข่าย และ 4. ค่าประมูลสัญญาณ ซึ่งในเรื่องของค่าเช่าโครงข่ายนั้น มองว่าหากเปิดประมูลที่ 48 ช่อง กับ 5 โครงข่ายจะไม่คุ้มทุน และเป็นภาระของเจ้าของช่องทั้ง 48 ช่อง ที่ต้องมีค่าโครงข่ายค่อนข้างสูง ซึ่งในทางเทคนิคสัญญาณที่นำมาใช้กับ 48 ช่องครั้งนี้สามารถทำได้ถึง 150 ช่อง ดังนั้น หากเปิดให้มีการประมูลได้ที่จำนวนดังกล่าวค่าโครงข่ายก็จะถูกลง เป็นผลดีทั้งต่อเจ้าของโครงข่าย และเจ้าของช่องรายการ
ทั้งนี้ หากคิดที่ตัวเลขพื้นฐานของค่าเช่าโครงข่ายจากเแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมต่อเดือน ที่มีค่าใช้จ่ายที่ 530,000 บาทต่อเดือนแล้ว เชื่อว่าทีวีดิจิตอลระบบเอสดีจะมีต้นทุนค่าเช่าสูงกว่า 4 เท่า จากการใช้สัญญาณ 2 เมกะบิต หรือต่อเดือนต้องจ่ายถึง 4.24 ล้านบาท ส่วนทีวีดิจิตอลระบบเอชดีจะมีต้นทุนสูงกว่า 4 เท่าจากการใช้สัญญาณ 4 เมกะบิต ส่งผลให้ต่อเดือนมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 16.96 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
เคเบิลทีวีลงทุนเพิ่มอีก 6,250 ล้านบาท
ในสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มการรับชมอื่นๆ ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของเคเบิลทีวีปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ทรูวิชั่นส์จับกลุ่มตลาดบน, ซีทีเอชจับกลุ่มตลาดล่าง และเคเบิลท้องถิ่นรายเล็ก ทั้งนี้ เฉพาะกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่นรายเล็กมีแนวโน้มรวมตัวกันมากขึ้น โดยจะมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มไปสู่ระบบดิจิตอล กลายมาเป็นเคเบิลระบบดิจิตอลในที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการเพิ่มช่องรายการได้มากยิ่งขึ้น จากปกติทำได้ที่ 80 ช่อง ที่สำคัญเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในส่วนของเคเบิลทีวีด้วยกันเอง และในแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยเชื่อว่าเฉพาะกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่นรายเล็กนี้จะใช้เม็ดเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 6,250 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะมีการเปลี่ยนระบบแล้วกว่า 50% และภายใน 2 ปีจะเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ส่วนการลงทุนในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. การลงทุนวางระบบโครงข่ายจากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล ราว 1,000 ล้านบาท 2. การลงทุนด้านเซตท็อปบ็อกซ์ ที่คิดราคากล่องละ 1,500 บาท กับฐานสมาชิก ที่ 3.5 ล้านครัวเรือน คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 5,250 ล้านบาทได้
แซตเทิลไลต์ขาลง ดิ้นตายสู่เพย์ทีวี และกล่อง HD
นายอนุพนธ์กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มแซตเทิลไลต์ทีวี หรือช่องทีวีดาวเทียม กำลังจะเป็นขาลง เพราะในส่วนของจานซีแบนด์ถือว่าอิ่มตัวแล้ว ส่วนจานเคยูแบนด์ยังไปได้อยู่ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกันในลักษณะของเพย์ทีวี กับช่องรายการแบบเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงการสร้างรายได้ผ่านระบบเอชดีจึงจะสามารถอยู่ได้ นอกจากนี้กลุ่มคอนเทนต์โพไวเดอร์ในแพลตฟอร์มนี้ รายใหญ่ก็จะก้าวเข้าสู่การลงทุนในแพลตฟอร์มอื่นด้วย เช่น แกรมมี่กับความสนใจเข้าสู่การประมูลดิจิตอลทีวี
ดังนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมบรอดคาสติ้งใน 5 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงแล้วเต็มรูปแบบ ทีวีดิจิตอลและเคเบิลทีวีจะเป็นแพลทฟอร์มที่มีแนวโน้มของการเติบโตที่ดี ส่วนแซตเทิลไลต์ทีวีจะต้องหาจุดแข็งเพื่อที่จะคงอยู่ต่อไปได้
เม็ดเงินโฆษณาโตพรวด 4 เท่า
อย่างไรก็ตาม นายนิพนธ์กล่าวด้วยว่า ในแง่ของเม็ดเงินโฆษณา 60,000 กว่าล้านบาทในสื่อฟรีทีวีปัจจุบันนั้น หลังการเปลี่ยนแปลงของบรอดคาสติ้งที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดไม่ต่ำกว่า 4 เท่า ส่วนสำคัญมาจาก ช่องทางในการใช้สื่อโฆษณามีเพิ่มขึ้น อัตราค่าโฆษณาก็จะถูกลง เป็นผลให้มีเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ ที่ไม่เคยใช้สื่อโฆษณาหันมาใช้สื่อโฆษณาบนบรอดคาสติ้งมากขึ้นนั่นเอง
ด้านนางวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มไอพีจี มีเดียแบรนด์ส และในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เม็ดเงินโฆษณาในอนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในสื่อทีวีดิจิตอลจะออกมาเป็นราคาที่เท่าไร จะเท่ากับฟรีทีวีหรือถูกกว่านั้น ต้องขึ้นอยู่กับต้นทุนและที่สำคัญคือเรตติ้งคนดู จากคอนเทนต์ที่น่าสนใจเป็นหัวใจหลัก