ASTVผู้จัดการรายวัน - บีทีเอสเลื่อนออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF จาก ก.พ.เป็น เม.ย. 56 คาด ก.ล.ต.เร่งเดินหน้าหลังได้รับหนังสือตอบกลับจากดีเอสไอ ฟุ้งปีนี้รายได้และจำนวนผู้โดยสายรถไฟฟ้าโตใกล้เคียงปีก่อนที่ขยายตัวตามเป้าหมาย 10-12% ยอมรับหาก กทม.ไฟดับรถหยุดแน่ เหตุระบบไฟสำรองไม่สามารถใช้เดินรถได้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เลื่อนการเปิดขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) จากเดิมที่กำหนดไว้ปลาย ก.พ.นี้ออกไป 1.5-2 เดือนขึ้นกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะอนุมัติไฟลิ่งได้เมื่อใด
เนื่องจากคาดว่าภายในสัปดาห์นี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะส่งเรื่องตอบกลับ ก.ล.ต. หลังจากดีเอสไอไม่ติดใจสงสัยเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า และในการออกกองทุนรวมฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาส่วนต่อขยายของบีทีเอสที่กำลังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ เพราะบริษัทฯ จะนำรายได้จากการสัมปทานเดิมของบีทีเอสที่มีอายุอีก 17 ปีมาเป็นรายได้ของกองทุนฯ เชื่อว่า ก.ล.ต.เร่งรัดเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากการออกกองทุนฯนี้เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ
“การเลื่อนเปิดขายกองทุนรวมฯออกไปนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนงานบริษัทฯ เพราะภาครัฐยังไม่มีเปิดประมูลทำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ซึ่งภายหลังจาก ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่งแล้ว บริษัทมีแผนจะโรดโชว์กองทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยสัดส่วนการขายกองทุนฯ ให้ต่างชาติและนักลงทุนไทยนั้น ยังไม่ได้สรุป”
นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ คาดว่ารายได้และจำนวนผู้โดยสารในงวดปี 2556/2557 จะเติบโต 10-12% ใกล้เคียงงวดปี 2555/2556 สิ้นสุด 31 มี.ค. 56 เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงไตรมาส 1/2556-57 (เม.ย.-มิ.ย. 56) จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ 15-40 บาท/เที่ยว ตามต้นทุนค่าแรงค่าซ่อมบำรุงและค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นต้นทุนถึง 70% ของต้นทุนรวม และบริษัทไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2548 ที่เคยปรับขึ้นในอัตรา 10% ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทรับจ้าง กทม.เดินรถส่วนต่อขยายจากวงเวียนใหญ่ไปตลาดพลู ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งด้วย และการปรับขึ้นค่าโดยสารนั้น ไม่ได้ต้องขออนุมัติ เพียงแต่แจ้ง กทม.ให้รับทราบ
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/55-56 (1 ม.ค. - 31 มี.ค. 56) คาดว่ารายได้และจำนวนผู้โดยสารยังเติบโตได้ตามเป้าหมายต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยในที่ 14 ก.พ. 56 มียอดผู้โดยสารสูงสุด 7.3 แสนเที่ยวคนต่อวัน ดังนั้นจำนวนผู้โดยสารในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 12-15% และรายได้จะเติบโตสูงกว่าจำนวนผู้โดยสาร
นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า หากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ไม่ใช่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการออกกองทุนรวมฯ ของบริษัท เพราะการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้สนับสนุน ใครเป็นผู้ว่าฯ ก็ไม่เกี่ยวกัน รวมทั้งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสัญญาจ้างเดินรถด้วย แต่ทั้งนี้คงต้องอธิบายทำความเข้าใจ เพราะสิ่งที่บริษัทดำเนินการมาถูกต้อง
สำหรับความเสี่ยงหากเกิดไฟดับอันเนื่องจากการหยุดส่งก๊าซฯ พม่าในช่วง 5-13 เม.ย.นี้ นายสุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทฯ มีการสำรองไฟฟ้าไว้เผื่อฉุกเฉิน ระบบสื่อสาร แต่ไม่สามารถใช้เดินรถไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ บริษัทรับไฟเพื่อเดินรถจาก 2 จุด คือ หมอชิต และไผ่สิงโต ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดไฟดับพร้อมกันทั้ง 2 จุดนี้ ทำให้สามารถเดินรถไฟฟ้าได้ตามปกติ