ปตท.จับมือพันธมิตรญี่ปุ่น “อาซาฮีฯ-มารูเบนิ” เปิดโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรล์จากก๊าซโพรเพนแห่งแรกของโลกในประเทศไทย ช่วยลดการขาดดุลนำเข้าวัตถุดิบและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในประเทศ
วันนี้ (11 ก.พ.) นายคิมิโนริ อิวามะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และพลตำรวจตรี ลัทธสัญญา เพียรสมภาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายทาเคะซึกุ ฟูจิวาระ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท อาซาฮี คาเซอิ คอร์ปอเรชั่น และนายยูจิ โคบายาชิ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท อาซาฮี คาเซอิ เคมิคอลส์ คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ณ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง
บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท อาซาฮี คาเซอิ เคมิคอลส์ คอร์ปอเรชั่น ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น บริษัทการค้าชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 48.5%, 48.5% และ 3% ตามลำดับ ถือเป็นโรงงานปิโตรเคมีเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์ (AN) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกและเส้นใยอะคริลิก โดยใช้ก๊าซโพรเพนจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นวัตถุดิบหลักด้วยกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี สารเมทิลเมตะคริเลต (MMA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิเมทิลเมตะคริเลต (PMMA) แผ่นอะคริลิกใส และสีทาบ้าน ด้วยกำลังการผลิต 70,000 ตันต่อปี และสารแอมโมเนียมซัลเฟต (AMS) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตปุ๋ยเคมีด้วยกำลังการผลิต 160,000 ตันต่อปี
พลตำรวจตรี ลัทธสัญญากล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นในการใช้ความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากก๊าซธรรมชาติมาพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปในอนาคต
ซึ่งการเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ของโรงงาน PTTAC นี้จะทำให้สามารถลดการนำเข้าสาร AN และสาร MMA หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ทั้งยังสามารถส่งผลิตภัณฑ์ข้างต้นไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ในภาพรวมของประเทศ