สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชี้ กรณีปัญหาซื้อตุ๊กตาเฟอร์บี้ไม่กระทบความน่าเชื่อถือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมากนัก เพราะเป็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กขายสินค้าของบุคคลเป็นการเฉพาะ แต่อาศัยการพูดถึงจนทำให้ตลาดขยายออกไป แนะผู้ซื้อตรวจสอบข้อมูลผู้ขายก่อนซื้อ เพราะหากเคยกระทำผิดมักพบข้อมูลอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การซื้อขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ลักษณะบุคคลหนึ่งคนซื้อขายในช่องทางเครือข่ายของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้เป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซ ที่เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก แต่คนคนนั้นอาศัยความสามารถของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีการกล่าวถึงและมีการบอกต่อๆ กันไปอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นช่องทางในการกระจายการเข้าถึงผู้คนในกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นคนหมู่มากได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้านั้นน่าจะเกิดขึ้นเพราะคนซื้อเห็นว่าสินค้ามีราคาถูกแม้ว่าระบบการขายที่ใช้อยู่ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือก็ตาม
“เรื่องนี้ผู้ซื้อควรจะมีการตรวจสอบผู้ขายด้วย เช่น ตรวจสอบบัญชี ลองค้นหาดู ขอเบอร์โทรศัพท์ทั้งมือถือและโทรศัพท์ประจำที่ด้วย เพื่อให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะผู้ขายหากเคยมีปัญหาจะพบข้อมูลจากค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ตได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีตุ๊กตาเฟอร์บี้จะไม่ทำให้เกิดภาพลบกับอี-คอมเมิร์ซมากนัก” นายภาวุธกล่าว
สำหรับการซื้อขายสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซในภาพรวมในปัจจุบันนับว่า เติบโตอย่างมากและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมาตลอด ล่าสุดเฉพาะการซื้อขายในลักษณะค้าปลีก มีมูลค่าซื้อขายรวมถึงปีละ 15,000 ล้านบาท เว็บไซด์บางแห่งเติบโตจากปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัวและการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ไม่มีศักยภาพที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ สามารถใช้อี-คอมเมิร์ซ เป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายธุรกิจออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้เมื่อระบบโทรศัพท์ได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบ 3G การซื้อขายในลักษณะการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์ หรือเอ็ม-คอมเมิร์ซ จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก