xs
xsm
sm
md
lg

Currency War กับกฎเกณฑ์ที่ธนาคารกลางหลายประเทศต้องการปฏิรูปเพื่อรับมือกับการเก็งกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเจรจากันเพื่อปฏิรูปวิธีการกำหนดอัตราอ้างอิงสำหรับตราสารอนุพันธ์สกุลเงินในตลาดต่างประเทศ หลังจากผลการสอบสวนธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ระบุว่า เทรดเดอร์ในสิงคโปร์พยายามปั่นตลาดปริวรรตเงินตรา
        การเจรจากันในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) และธนาคารกลางมาเลเซียมีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อตลาดสัญญาล่วงหน้าที่ไม่มีการส่งมอบ (NDF) สำหรับสกุลเงินในสิงคโปร์ โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซียระบุว่า ตลาด NDF นี้สร้างความเสียหายต่อการควบคุมตลาดปริวรรตเงินตรา
        ธนาคารกลางสองแห่งนี้นำการสอบสวนเรื่องการปั่นตลาดมาใช้เป็นเหตุผลในการผลักดันให้มีการปฏิรูปและเพิ่มการควบคุมกระบวนการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกระบวนการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมธนาคารสิงคโปร์ในปัจจุบัน
        นายปานจี อิราวัน ประธานกลุ่มเอซีไอ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ กำลังหารือกันและร่วมมือกันในเรื่องวิธีการรับมือกับสถานการณ์นี้"
        นักการธนาคารคนหนึ่งกล่าวว่า สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะนำวิธีการปฏิรูปและวิธีการคุมเข้มกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกับวิธีการที่ใช้แก้ไขปัญหาเรื่องการปั่นอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (Libor) มาใช้ในสิงคโปร์
        BI ระบุเมื่อวานนี้ว่า BI กำลังประสานงานกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เปิดเผรายละเอียด
        NDF เป็นตราสารอนุพันธ์ที่เปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไรหรือการทำประกันความเสี่ยงต่อสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ ถึงแม้นักลงทุนไม่สามารถซื้อขายสกุลเงินดังกล่าวได้โดยตรงหรืออย่างเสรี เนื่องจากรัฐบาลควบคุมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดังกล่าว
        การชำระเงินในตราสาร NDF ใช้สกุลเงินดอลลาร์ ดังนั้นจึงไม่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินของตราสารอ้างอิง อย่างไรก็ดี เนื่องจาก NDF สะท้อนการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มีต่อทิศทางของสกุลเงิน ดังนั้น NDF จึงมีอิทธิพลต่อการซื้อขายสกุลเงินดังกล่าวในตลาดในประเทศ
        เนื่องจาก NDF มีการซื้อขายในตลาดต่างประเทศ ธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซียจึงไม่มีอำนาจควบคุมตลาดสิงคโปร์
        อย่างไรก็ดี ข่าวเรื่องการปั่นตลาดส่งผลให้ธนาคารกลางสองแห่งนี้มีโอกาสกดดันรัฐบาลสิงคโปร์ให้ปรับปรุงตลาดปริวรรตเงินตรา หลังจากตลาดดังกล่าวสร้างความลำบากให้แก่ธนาคารกลางสองแห่งนี้นับตั้งแต่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
        ธนาคารพาณิชย์กลุ่มหนึ่งในสิงคโปร์เป็นผู้กำหนดอัตราอ้างอิงที่ใช้ในการชำระเงินในสัญญา NDF สำหรับสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย, ริงกิตของมาเลเซีย และดองของเวียดนาม
        บริษัทธอมสัน รอยเตอร์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาคมธนาคารในสิงคโปร์ในการรวบรวมข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์และคำนวณอัตราอ้างอิงดังกล่าว
        ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) สั่งให้ธนาคารพาณิชย์กลุ่มนี้ทบทวนกระบวนการกำหนดอัตราอ้างอิงในปี 2012 ในขณะที่ทางการสหรัฐและอังกฤษปราบปรามการปั่น Libor ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในหลักทรัพย์มูลค่าราว 600 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก
        แหล่งข่าวกล่าวว่า มีการตรวจพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เทรดเดอร์ในธนาคารสิงคโปร์บางแห่ติดต่อสื่อสารกันเพื่อพยายามปั่นอัตราแลกเปลี่ยนในแบบที่จะส่งผลดีต่อบัญชีเทรดดิงของตนเอง
        ธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซียพยายามส่งเสริมให้มีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามตลาดในประเทศของตนเองด้วย
        ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ระบุว่า BI จะส่งหนังสือไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อย้ำถึงคำสั่งห้ามการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่ไม่มีการส่งมอบ (NDF) สำหรับสกุลเงินรูเปียห์ในต่างประเทศ และเรียกร้องให้ ธนาคารพาณิชย์ใช้ตลาดสัญญาล่วงหน้ารูเปียห์ภายในประเทศแทน
        ธนาคารกลางมาเลเซียได้แจ้งต่อธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซียว่า ธนาคารพาณิชย์มาเลเซียสามารถใช้เพียงแค่อัตราอ้างอิงที่ได้รับการกำหนดภายในประเทศเท่านั้นในการกำหนดราคาสัญญาสกุลเงินริงกิต ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในมาเลเซียใช้อัตราที่ได้รับการกำหนดในสิงคโปร์ในช่วงก่อนหน้านี้
        อย่างไรก็ดี นักลงทุนกล่าวว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ธนาคารกลางมาเลเซียและอินโดนีเซียจะสามารถลดอิทธิพลของสัญญา NDF ในตลาดต่างประเทศ
        ทั้งนี้ สัญญา NDF สำหรับดอลลาร์/หยวนและดอลลาร์/รูปีใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยธนาคารกลางเป็นจุดอ้างอิงในการชำระเงิน
        อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่า วิธีการดังกล่าวอาจจะไม่สามารถนำมาใช้กับรูเปียห์และริงกิต เนื่องจากสภาพคล่องของสกุลเงินทั้งสองมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สิงคโปร์ แทนที่จะอยู่ที่จาการ์ตาหรือมาเลเซีย
        ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นสถานที่ตั้งของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่อันดับสองในเอเชีย โดยรองจากญี่ปุ่น
        ศาสตราจารย์จิน-ฉวน ต้วน ในมหาวิทยาลัยเนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ สิงคโปร์กล่าวว่า "เป้าหมายคือการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความซื่อตรงมากที่สุดและในการทำเช่นนั้นคุณจำเป็นต้องใช้ตลาดที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด"
        อินโดนีเซียเคยพยายามสกัดกั้นการค้ารูเปียห์ในตลาดต่างประเทศในเดือนม.ค. 2001 เพื่อจำกัดความผันผวนของรูเปียห์ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลุ่มหนึ่งในสิงคโปร์ได้จัดตั้งตลาด NDF ขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของอินโดนีเซีย
        นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลาด NDF ก็เติบโตขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในตลาดต่างประเทศก็อาจจะอยู่ในระดับที่แตกต่างจากตลาดในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางพยายามเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนภายในประเทศ
        การตรวจพบความพยายามในการปั่นตลาด NDF ครั้งล่าสุดกระตุ้นให้มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป
        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยิป เซา เหลียง ในมหาวิทยาลัยนันยาง เทคโนโลจิคัลยูนิเวอร์ซิตีในสิงคโปร์ กล่าวว่า "สัญญาณราคาในตลาด NDF อาจเป็นสัญญาณที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก"
        "ตลาด NDF ควรจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เหมาะสมหรือควรจะถูกปิดลงเพราะตลาดนี้แกว่งตัวผันผวนง่าย, มีการเก็งกำไรมาก และมีการปั่นตลาดเป็นอย่างมาก"
        ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุในปีที่แล้วว่า ทางธนาคารกลางกำลังทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารสิงคโปร์และคณะกรรมการกำกับตลาดปริวรรตเงินตราสิงคโปร์เพื่อทบทวนวิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน NDF
        นักการธนาคารคนหนึ่งกล่าวว่า สิงคโปร์กำลังพิจารณาวิธีการปฏิรูปที่คล้ายคลึงกับข้อเสนอของสำนักงานบริการทางการเงินในอังกฤษ (FSA) ในการปฏิรูป Libor
       ข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงแนวปฏิบัติใหม่สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ให้ข้อมูลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน, การจัดตั้งผู้กำกับดูแล Libor ใหม่ที่มีความเป็นอิสระและการแก้กฎหมายเพื่อทำให้การปั่น Libor ถือเป็นความผิดทางอาญา
(ข้อมูลข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak.
 
กำลังโหลดความคิดเห็น