xs
xsm
sm
md
lg

ปูอู้ฟู่! ถกเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้าน จัดหนัก 57 โครงการ-คุยฝรั่งเศสสนใจลงขันรถไฟฟ้าความเร็วสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายกฯ เรียกถกเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท เน้นสอดคล้องยุทธศาสตร์ประเทศ คค.จัดหนัก 3 กลุ่มโครงการรวม 57 โปรเจกต์ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขอเวลา 1 เดือนทำรายละเอียดก่อนชง ครม. หวังดันเข้าสภาฯทันสมัยประชุมนี้ โชว์โปร่งใสนัดแจงองค์การต้านโกงพรุ่งนี้ คุย “นายกฯ ฝรั่งเศส” สนใจลงขันรถไฟความเร็วสูง

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. ได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้ายุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมหารือ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

โดยนายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมเพื่อติดตามงานโครงการการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพราะถือเป็นโครงกาสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องดูอย่างละเอียดในทุกโครงการที่จะเข้าอยู่ในแผน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอหลายโครงการ โดยจัดลำดับความสำคัญว่าโครงการใดสามารถใช้งบประมาณปกติ และโครงการใดบรรจุเข้าสู่ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน รวมไปถึงโครงการใดสามารถให้เอกชนมาร่วมทุนได้

รมว.คมนาคมกล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการต่างๆ นั้น กระทรวงคมนาคมได้จัดหมวดหมู่เป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อทางและการขนส่งกับภูมิภาค จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 190,402.58 ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน จำนวน 39 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 1,550,867.37 ล้านบาท และ 3. ยุทธศาสตร์การยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 158,860.04 ล้านบาท รวมทั้งหมด 57 โครงการ วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,900,129 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกฯ ต้องการให้กำหนดจุดศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาคให้ชัดเจน จากนั้นต่อเชื่อมเส้นเลือดใหญ่ไปที่จุดฮับ และทำถนนย่อยไปเชื่อมยังจังหวัดต่างๆ โดยสรุปคือทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ประเทศ 4 ด้าน คือ 1. เรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 3. การกระจายรายได้ และ 4. ความโปร่งใสของระบบราชการ

“ทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาโครงการให้ละเอียด และกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน โครงการใดเป็นโครงการย่อยให้ใช้งบประมาณปกติ แต่หากเป็นโครงการที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ เน้นลอจิสติกส์ให้บรรจุเข้าในงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งหมดต้องทำอย่างรอบคอบ และจะไม่ให้มีโครงการที่ฝากเข้ามา โดยทุกโครงการต้องไม่มีการปรับหรือแก้ไขในส่วนของขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง และอยากให้เข้าสู่การพิจารณาสภาฯ ให้ทันในสมัยประชุมนี้” นายชัชชาติระบุ

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อาจมีการเชิญเอกชนมาให้ความเห็นว่าแผนที่รัฐบาลดำเนินการนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดของภาคเอกชนหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการจัดทำรายละเอียด ส่วนเรื่อง 3 ยุทธศาสตร์ที่กล่าวไปนั้นส่วนใหญ่คณะรัฐมนตรีเข้าใจตรงกันแล้ว และต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ เรื่องความโปร่งใส โดยวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) ตนมีนัดหมายพบกับผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่กำลังสนใจในเรื่องโครงการการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาทด้วย

สำหรับแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการนั้น นายชัชชาติเปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลังไม่ได้มองจากการกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อรวมดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนสูงกว่ามาก ดังนั้นจึงมองแหล่งเงินจากในประเทศเป็นหลัก เพราะที่ได้รับรายงานเรามีสภาพคล่องของเงินฝากในประเทศค่อนข้างดีอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้นก็จะไม่กู้จากแหล่งเดียวทั้งหมด และจะทยอยกู้เป็นเวลา 7 ปี เบื้องต้นจากการประเมินตัวเลขพบว่าปีที่กู้สูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นเชื่อว่าแหล่งเงินกู้ในประเทศน่าจะเพียงพอ ทั้งหมดขึ้นกับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา เพราะกระทรวงคมนาคมเป็นฝ่ายใช้เงิน

นอกจากนี้ นายชัชชาติยังกล่าวถึงท่าทีสนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของนายกฯ ฝรั่งเศสในระหว่างเยือมประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วยว่า ทางฝรั่งเศสมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อภูมิภาค แต่ขอให้การดำเนินการโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งตนในฐานะ รมว.คมนาคมยืนยันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีความจำเป็น โดยเบื้องต้นจะดำเนินการ 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โคราช กรุงเทพฯ-พัทยา กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันก็ได้สอบถามทางนายกฯ ฝรั่งเศสว่าจะช่วยเหลือไทยได้อย่างไร ซึ่งทางฝรั่งเศสเขาทำรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว จึงอยากให้ฝรั่งเศสมาในแง่ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อให้เข้าใจปัญหาของไทยที่ชัดเจน หากเขารอกระทั่งเราเปิดประมูล และค่อยมายื่นคิดว่าจะช้าเกินไป วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่หลายประเทศให้ความสนใจมาลงทุนในไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น