xs
xsm
sm
md
lg

Currency War สถานการณ์และมาตรการรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        รัฐบาลเกาหลีใต้ขู่ที่จะจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงินในวงกว้าง สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณแรกที่บ่งชี้ถึงกระแสความกังวลในเอเชียที่ว่า การคาดการณ์เรื่องการแข่งขันกันปรับลดค่าเงินกำลังกระตุ้นให้นักลงทุนถอนเงินลงทุนออกจากบางประเทศในเอเชีย
        สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงเกือบ 12 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.เป็นต้นมา และสิ่งนี้สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลเกาหลีใต้ เนื่องจากบริษัทหลายแห่งของเกาหลีใต้แข่งขันกับบริษัทของญี่ปุ่นในด้านการส่งออก ทางการจีนได้ออกมาตำหนิการอ่อนค่าของเยนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีไทยและฟิลิปปินส์ออกมาแสดงความกังวลต่อการอ่อนค่าของเยนด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากเกาหลีใต้และจีน เนื่องจากมีเงินทุนจำนวนมากเกินไปไหลเข้าสู่ไทยและฟิลิปปินส์จากการที่นักลงทุนต้องการอัตราผลตอบแทนที่ระดับสูง
        หลายประเทศในเอเชียแสดงความกังวลต่อการดิ่งลงของค่าเงินเยนแต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการใดอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา โดยบางประเทศแสดงความกังวลทางวาจา และบางประเทศก็เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังไม่ได้แสดงความวิตกต่อเรื่องนี้มากนัก จนกระทั่งรัฐบาลเกาหลีใต้ขู่ที่จะจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงิน
        แรงเทขายในตลาดหุ้นกรุงโซลสัปดาห์นี้กลายเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญโดยนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเกาหลีใต้รายวันในปริมาณที่สูงที่สุดในรอบ 16 เดือนในสัปดาห์นี้ และส่งผลให้วอนดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 3 เดือน
        อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลขู่ที่จะดำเนินมาตรการอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน เพราะจะกระตุ้นให้ตลาดเทขายออกมามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินร่วงลงไปอีก และทำให้นักลงทุนกังวลว่าหลายประเทศจะแข่งขันกันปรับลดค่าเงิน
        นายร็อบ ไรอัน นักยุทธศาสตร์การลงทุนของ RBS กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่เกาหลีใต้อาจจะประกาศมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนในบางรูปแบบออกมาในเร็วๆนี้ โดยเขากล่าวว่า "เกาหลีใต้กำลังจะกลายเป็นโดมิโนตัวแรก และสิ่งนี้คือผลกระแบบโดมิโนที่เกิดจากการอ่อนค่าของเยน"
        นายไรอันกล่าวว่า "สิ่งที่จุดชนวนอย่างแท้จริงคือปฏิกิริยาในตลาดหุ้นและเงินทุนที่ไหลออกจากเกาหลีใต้ โดยผมคิดว่านักลงทุนกังวลมากเกินไปในเรื่องการแทรกแซงตลาด แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการแทรกแซงถ้าหากเยนยังคงอ่อนค่าลงต่อไป"
        ความกังวลเรื่องการแข่งขันกันปรับลดค่าเงินในช่วงนี้เป็นผลมาจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งรวมถึงสหรัฐ
        จุดสนใจในช่วงนี้มุ่งไปที่เยน โดยเยนดิ่งลงนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เพิ่มความพยายามในการยุติภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินฝืด โดยบีโอเจได้เพิ่มเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อขึ้นจาก 1 % สู่ 2 % ในสัปดาห์ที่แล้ว และให้สัญญาว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์โดยไม่ระบุวันสิ้นสุดโครงการ
        เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศในเอเชียที่ออกมาแสดงความกังวลมากที่สุดต่อค่าเงินเยน โดยบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เช่น ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์และ ฮุนได มอเตอร์ แข่งขันโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทกลุ่มนี้ของเกาหลีใต้ได้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันเมื่อสกุลเงินวอนแข็งค่าขึ้น
        เยนดิ่งลงจากระดับ 15 วอน สู่ระดับใกล้ 11.8 วอนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
        นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นเกาหลีใต้ 1.8 ล้านล้านวอน (1.65 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนม.ค. ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดิ่งลงมาแล้ว 3 % จากช่วงต้นปีนี้ขณะที่ต่างชาติได้เข้าซื้อหุ้นไต้หวันในช่วงที่ผ่านมา แต่เข้าซื้อในปริมาณที่ต่ำกว่าในปี2012
        นายชอย จอง-คู รมช.คลังเกาหลีใต้ กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า "กระแสการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในระยะนี้ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และส่งผลให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์"
        นายชอยกล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะสั่งให้บริษัทของรัฐบาลยุติการกู้เงินจากต่างชาติ และจะคุมเข้มกฎที่ใช้ควบคุมการค้าตราสารอนุพันธ์สกุลเงินของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา
        รัฐบาลเกาหลีใต้ต่อต้านการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างเช่นภาษีโทบินที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในยุโรป อย่างไรก็ดี นายชอยกล่าวว่า เกาหลีใต้จะพิจารณามาตรการที่คล้ายคลึงกัน ถ้าหากการเก็งกำไรในวอนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
        มีสองประเทศที่อาจจะไม่ต่อต้านการดิ่งลงของเยน ซึ่งได้แก่อินเดียและอินโดนีเซีย เพราะเงินทุนที่ไหลเข้าสู่สองประเทศนี้จะช่วยชดเชยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และช่วยหนุนสกุลเงินที่อ่อนแอของสองประเทศนี้
        ถึงแม้เกาหลีใต้ออกมาแสดงความกังวลเรื่องสกุลเงิน แต่นักวิเคราะห์กลับมุ่งความสนใจไปที่จีนมากกว่า โดยประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียปรับนโยบายตามค่าเงินหยวนนับตั้งแต่ปี 2005 แทนที่จะปรับตามเยน
        จีนยังไม่ได้ดำเนินมาตรการใดต่อการดิ่งลงของค่าเงินเยนในช่วงนี้
        นายเคลาดิโอ ปิรอน นักยุทธศาสตร์การลงทุนของแบงก์ ออฟ อเมริกาเมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า "เราพบว่าสกุลเงินเอเชียได้รับผลกระทบเพียงในวงจำกัดจากการอ่อนค่าของเยน และสิ่งที่สำคัญกว่าคือผลกระทบที่ได้รับจากหยวน"
        "สิ่งนี้บ่งชี้ว่า แรงเทขายสกุลเงินเอเชียในระยะนี้เกิดจากการระบายสถานการณ์ลงทุน มากกว่าที่จะเกิดจากการแข่งขันกันปรับลดค่าเงิน"
        อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ความเสี่ยงด้านนโยบายกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นเป็นการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจีนอาจจะไม่อยู่นิ่งเฉยถ้าหากเกาหลีใต้ประกาศใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะจีนเป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดที่รองรับสินค้าส่งออกจากเกาหลีใต้
        มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในฐานะนโยบายที่ประเทศตลาดเกิดใหม่นำมาใช้เพื่อรับมือกับเม็ดเงินดอกเบี้ยต่ำในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ที่เคยสนับสนุนนโยบายตลาดเสรี ก็ยอมรับว่ามาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในบางครั้ง
        หลายประเทศในเอเชียเคยใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาแล้วโดยจีนได้ลดโควต้าหนี้ต่างชาติลงในปี 2010 และอินโดนีเซียได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงของอินโดนีเซีย
        เกาหลีใต้ได้จัดเก็บภาษีรายได้จากหลักทรัพย์ และลดโควตาตราสารอนุพันธ์ลงไปแล้วหลายครั้ง ทางด้านสิงคโปร์และฮ่องกงมีข้อจำกัดด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่วนฟิลิปปินส์ได้เข้าควบคุมสถานะสกุลเงินในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ของฟิลิปปินส์
        อย่างไรก็ดี ประเทศในเอเชียอาจจะเผชิญกับอุปสรรคที่แตกต่างไปจากเดิมในการควบคุมสกุลเงินในช่วงนี้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
        การเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อกดดันสกุลเงินของตนเองให้ร่วงลง อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะมาตรการนี้ส่งผลให้ประเทศนั้นต้องพิมพ์สกุลเงินของตนเองออกมาในปริมาณที่เท่ากัน
        บางประเทศอาจจะหาทางสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อด้วยการดูดซับสกุลเงินของตนเองออกจากระบบ โดยอาจจะใช้วิธีออกพันธบัตร และกระบวนการนี้มีชื่อเรียกว่า sterilisation อย่างไรก็ดี การทำเช่นนี้อาจเสียค่าใช้จ่ายสูงเพราะประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีอัตราดอกเบี้ยสูง
        อีกทางเลือกหนึ่งคือการตรึงอัตราดอกเบี้ยหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพราะการทำเช่นนี้จะช่วยลดต้นทุนในการทำ sterilisation และลดความน่าดึงดูดของสกุลเงินตนเองด้วย
        หยวนปิดตลาดร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 สัปดาห์ในวันนี้ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้กำหนดค่ากลางในระดับที่ต่ำลงเพื่อรับมือกับการอ่อนค่าของเยนและสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย
        เทรดเดอร์กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการหยวนเป็นจำนวนมากแต่ธนาคารกลางจีนใช้ค่ากลางเพื่อสกัดการแข็งค่า และลดผลกระทบต่อการส่งออกของจีนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินเอเชีย
        เยนร่วงแตะระดับต่ำสุดใหม่เมื่อเทียบกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศจี-3 ในวันนี้ หลังจากดิ่งลงมากที่สุดในรอบ 12 ปีเมื่อเทียบกับยูโรในเดือนที่แล้ว ขณะที่ตลาดปรับสถานะรอรับการผ่อนคลายนโยบายเชิงรุกมากขึ้นจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)
        หยวนร่วงแตะระดับต่ำสุดของวันที่ 6.2296 หยวน/ดอลลาร์ในช่วงเช้า แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นมาที่ 6.2255 หยวน/ดอลลาร์ในช่วงเที่ยง และปิดตลาดที่6.2270 อ่อนค่าลง 0.13% จากระดับปิดวานนี้
        ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงในสัปดาห์นี้จากการพุ่งขึ้นของยูโร ขณะที่ธนาคารกลางจีนมักจะกำหนดค่ากลางในระดับที่สูงขึ้นเพื่อรับมือกับการร่วงลงของดัชนีดอลลาร์
        แต่เทรดเดอร์กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกลางกำลังพุ่งความสนใจไปที่เยนและสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย อาทิ วอนและดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมีน้ำหนักน้อยในดัชนีดอลลาร์ โดยวอนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในสัปดาห์นี้
        นอกจากผลกระทบของค่ากลางแล้ว เทรดเดอร์ยังคาดว่าธนาคารกลางยังคงเข้าแทรกแซงในตลาดในรูปของการซื้อดอลลาร์
        เทรดเดอร์จากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งคาดว่า การแทรกแซงรายวันของธนาคารกลางมีมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์ แต่เขาเตือนว่า นั่นเป็นการคาดการณ์คร่าวๆ ขณะที่ปริมาณการซื้อขายรายวันอยู่ในระดับเฉลี่ย 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
        เทรดเดอร์คาดว่า หยวนจะทรงตัวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตลาดปริวรรตเงินตราของจีนจะปิดทำการระหว่างวันที่ 9-15 ก.พ.
        เทรดเดอร์คาดว่า แรงหนุนการแข็งค่าจากความต้องการหยวนอย่างมากในภาคเอกชนอาจจะยังคงอยู่ต่อไป ขณะที่บริษัทหลายแห่งยังคงมีสถานะซื้อดอลลาร์ให้ระบายออกมา แต่เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้แรงกดดันนั้นเกิดขึ้นหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับว่า "สงครามค่าเงิน" จะรุนแรงขึ้นหรือไม่
         นักลงทุนลดสถานะซื้อบาท ขณะเพิ่มสถานะขายในสกุลเงินเอเชีย   ผลสำรวจของรอยเตอร์บ่งชี้ว่า นักลงทุนหันมาคาดการณ์ในทางลบ ต่อสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้และดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่สถานะขายของ สกุลเงินทั้งสองเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้น ครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. 2012 
        ก่อนหน้านี้รัฐบาลของบางประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้  ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของสกุลเงินตนเอง และประกาศเตือนว่า อาจจะมีการออกมาตรการด้านกฎระเบียบเพื่อรับมือกับกระแสเงินร้อนที่ไหล เข้าประเทศ 
        ความกังวลในเรื่องนี้ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดสถานะซื้อในบาท และเปโซฟิลิปปินส์ โดยสถานะซื้อในบาทได้ร่วงลงสู่ -0.81 ในวันที่ 31  ม.ค. จาก -1.18 ในวันที่ 17 ม.ค. 
         ผลสำรวจนี้ประเมินสถานะซื้อ (long position) หรือสถานะขาย  (short position) สุทธิในสกุลเงินในช่วงระดับ -3 ถึง +3  โดยคะแนน +3  บ่งชี้ว่า ตลาดมีสถานะซื้อดอลลาร์สหรัฐอย่างมาก ในขณะที่ระดับ -3 บ่งชี้ว่า ตลาด มีสถานะซื้อสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ประเทศนั้นเป็นอย่างมาก   
        ผลสำรวจนักวิเคราะห์ 14 รายบ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดสกุลเงินคาดการณ์ ในทางลบมากยิ่งขึ้นต่อสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 2012 ที่สถานะขายในริงกิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนได้หันมาคาดการณ์ในทางลบ หรือปรับลดการคาดการณ์ในทางบวกต่อสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียใน ช่วงนี้ 
        เมื่อสองสัปดาห์ก่อน สถานะซื้อในริงกิตเคยพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบกว่า  10 เดือน โดยพุ่งขึ้นสู่ -1.11 ในวันที่ 17 ม.ค. แต่ขณะนี้นักลงทุนได้หันมาถือครอง สถานะขายในริงกิตในระดับ +0.10 ในวันที่ 31 ม.ค. 
        ริงกิตได้รับแรงกดดันในช่วงนี้จากความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในมาเลเซีย 
        นักลงทุนได้เปลี่ยนจากการถือครองสถานะซื้อในดอลลาร์ไต้หวันมาเป็นสถานะขายด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. 2012 ที่นักลงทุนหันมาถือครองสถานะขายในดอลลาร์ไต้หวัน 
        สกุลเงินของประเทศกลุ่มนี้ดิ่งลงในเดือนม.ค.ในอัตราที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2012 โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในพอร์ทลงทุนของตนเอง และจากความกังวลที่ว่ารัฐบาลของประเทศกลุ่มนี้อาจจะดำเนินมาตรการชะลอการแข็งค่าของสกุลเงิน 
        สถานะซื้อในหยวนดิ่งลงราว 1 ใน 3 โดยร่วงลงสู่ -0.60 ในวันที่  31 ม.ค. จาก -0.99 ในวันที่ 17 ม.ค. 
        อย่างไรก็ดี สถานะซื้อในสกุลเงินรูปีของอินเดียพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า  ในขณะที่อินเดียยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และจากการ คาดการณ์ที่ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอินเดียในสัปดาห์นี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สถานะซื้อในรูปีพุ่งขึ้นสู่ -0.54 ในวันที่ 31 ม.ค. จาก -0.29  ในวันที่ 17 ม.ค. โดยธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 %  สู่ 7.75 % ในวันที่ 29 ม.ค. 
        ผลสำรวจของรอยเตอร์ฉบับนี้มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่นักวิเคราะห์ เชื่อว่าเป็นสถานะการลงทุนในปัจจุบันในสกุลเงิน 9 สกุลในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยสกุลเงิน 9 สกุลนี้ประกอบด้วยสกุลเงินบาทของไทย,หยวนของจีน, วอนของเกาหลีใต้, ดอลลาร์สิงคโปร์, รูเปียห์, ดอลลาร์ไต้หวัน,รูปี, เปโซ และริงกิตของมาเลเซีย
(ข้อมูลจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak.
 
กำลังโหลดความคิดเห็น