xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นทรัลเอ็มบาสซีผุด “ศิวิไลซ์สโตร์” จี้รัฐลดภาษีนำเข้าสู้ฮ่องกง-สิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” ผุดคอนเซ็ปต์สโตร์ชื่อ “ศิวิไลซ์” แหล่งรวมแฟชั่นจากดีไซเนอร์ไทยฝีมือเยี่ยม พร้อมมั่นใจลักชัวรีแบรนด์พื้นที่ 30% โอดปัญหาเดิมเรื่องภาษีนำเข้าตัวฉุดศักยภาพการแข่งขันของไทยให้ต่ำลง

นายชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ โครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี บนถนนเพลินจิต ของกลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ตั้งบริษัท ไดน์นิ่งเซ็นเซชั่น จำกัด ขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อการเสาะหาร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมจากทั่วโลกเข้ามาเปิดบริการในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจของเครือเซ็นทรัล เช่น เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ซึ่งการทำเช่นนี้เนื่องจากว่าปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวจะมาใช้จ่ายเมื่อมาท่องเที่ยวมี 2 อย่างหลัก คือ ชอปปิ้ง และรับประทานอาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ในเครือก็มีบริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด นำเข้าสินค้าแฟชั่นมาขายในไทยอยู่แล้ว แต่บริษัทใหม่นี้เน้นเรื่องอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น

นายชาติกล่าวในส่วนของโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซีว่า โครงการนี้ตามนโยบายที่จะมีลักชัวรีแบรนด์ประมาณ 30% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด ล่าสุดได้เปิดแนวคิดร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ใหม่ชื่อว่า “ศิวิไลซ์” พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของโครงการ ซึ่งร้านดังกล่าวจะเป็นร้านรวมดีไซเนอร์แบรนด์ของไทยที่ดังๆ รวมกว่า 20 แบรนด์ ดีไซเนอร์แบรนด์ดังๆ บางรายอาจจะมีร้านหรือสโตร์ของแบรนด์ตัวเองเปิดอยู่ในศูนย์ฯ ด้วย แต่บางแบรนด์ก็ไม่มีสโตร์ต่างหาก ความพิเศษของร้านศิวิไลซ์อยู่ที่ดีไซเนอร์จะออกแบบคอลเลกชันพิเศษมีขายเฉพาะที่นี่ให้กับร้านประมาณ 2 ครั้งต่อปี และมีการทำสินค้าพิเศษตามความต้องการของลูกค้าต่างหากด้วย

สำหรับพื้นที่ขายโครงการเซ็นทรัลเอ็มบาสซีในภาพรวม ขณะนี้ปล่อยได้แล้วมากกว่า 90% จากพื้นที่ทั้งหมด ส่วนสินค้าลักชัวรีแบรนด์มีแล้ว 30% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จะเป็นแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยเปิดมาก่อนในไทยหรือเป็นอินเตอร์แบรนด์ที่เคยเปิดในไทยมาแล้วแต่จะเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ รวมมากกว่า 50 แบรนด์ ทั้งนี้ โครงการเซ็นทรัลเอ็มบาสซีจะเปิดบริการได้ในปลายปีนี้

นายชาติกล่าวต่อว่า ตลาดสินค้าลักชัวรีแบรนด์ในไทยเติบโตสูงมาก แทบจะเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะจุดแข็งเรื่องโลเกชัน เรื่องบริการ รวมทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เรื่องอาหารที่ขึ้นชื่อของไทย ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น และก็ต้องมาชอปปิ้งสินค้าลักชัวรีแบรนด์เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องของราคาสินค้าเพราะไทยยังมีการเก็บภาษีนำเข้าสูงมากเฉลี่ย 30-40% ซึ่งเป็นปัญหาเก่าที่ทางภาคเอกชนต่อสู้และนำเสนอรัฐบาลเพื่อขอให้ลดภาษีนำเข้ามาตลอด แต่ก็ไม่เข้าใจเพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย ซึ่งเราก็ยังคงต้องกระตุ้นให้ภาครัฐบาลหันมาช่วยเหลือและมีมาตรการลดภาษีอย่างจริงจังต่อเนื่องต่อไป ขณะที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วประเทศมาเลเซียก็คล้ายกับไทยเก็บภาษีนำเข้าสูง แต่ปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าแล้ว ทำให้ยอดขายสินค้าลักชัวรีเพิ่มมากขึ้น และนักท่องเที่ยวก็มากขึ้นด้วย ซึ่งถ้าหากประเทศไทยไปได้แบบนั้นก็จะยิ่งส่งผลดีมากขึ้นตามลำดับ

จากผลการสำรวจกลุ่มประเทศยุโรปในเรื่องตัวเลขการขอคืนภาษีสินค้า พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปชอปปิ้งติดอันดับที่ 6 ของโลก และยังคงมีแนวโน้สูงขึ้นเป็นลำดับ อันจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่พบว่ายอดการใช้จ่ายในต่างประเทศปี 2555 มีประมาณ 6,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2554 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาทในปี 2556 ดังนั้น หากภาครัฐให้การสนับสนุนลดภาษีการนำเข้าสินค้าให้เหลือ 0% จะแปรพฤติกรรมคนไทยหันมาซื้อในเมืองไทยมากขึ้นอย่างน้อย 50% จากยอดรวม สามารถดึงเงินกลับคืนสู่ประเทศได้กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี และกำลังซื้อจากทั่วเอเชียก็จะไหลมาที่ไทยด้วย

นายชาติกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีความทัดเทียมกับจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่าประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ แต่ยอดการจับจ่ายกลับมีอัตราที่ต่ำกว่าสิงคโปร์ เพราะภาษีนำเข้าทำให้สินค้าแฟชั่นลักชัวรีแบรนด์แพงกว่าเขา เพราะสิงคโปร์ภาษีสูงสุดก็แค่ไม่เกิน 3% ฮ่องกง 0% แต่ยังดีที่สินค้านาฬิกาไทยเราลดภาษีนำเข้ามาเหลือประมาณ 5% ทำให้ยอดขายนาฬิกาเพิ่มมากขึ้น หากเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องภาษีได้ก็จะทำให้เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญที่ดึงดูดคนต่างประเทศให้เข้ามาเที่ยวไทยได้มากขึ้นอีก ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าขยายตลาดการท่องเที่ยวเติบโต 20-30% ต่อปี คาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 21 ล้านคนต่อปี ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 24.5 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้เข้าประเทศไทยมากกว่า 1,149,000 ล้านบาทต่อปี (เพิ่มขึ้นจากประมาณ 965,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2555 )
กำลังโหลดความคิดเห็น