xs
xsm
sm
md
lg

ซีอาร์ซีปลด “ออฟฟิศดีโป” ดันออฟฟิศเมทลุยอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวุฒิ อุ่นใจ
ออฟฟิศเมทแย้มแผนหลังควบรวมออฟฟิศดีโป และบีทูเอสของซีอาร์ซี เตรียมปลดชื่อออฟฟิศดีโป ใช้”ออฟฟิศเมท”ลุย ขยายสาขาให้ครบ 100 สาขาทั่วประเทศ ปักธงอาเซียนใน 3 ปี ส่วนบีทูเอสเน้นขยายสาขาไซส์เล็กลง มั่นใจปีนี้โตแน่ 20% เชื่อ 3จี,ไฮสปีดอินทอร์เน็ต และ ภาษีออนไลน์ ดันตลาดโต

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้ประกาศควบรวมกับออฟฟิศดีโป และบีทูเอส ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลรีเทล หรือ ซีอาร์ซี เมื่อช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการและวางแนวทางในการดำเนินงานต่างๆ คาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้จะสรุปแผนการดำเนินงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

เบื้องต้นวางแผนไว้ว่า จะใช้แบรนด์ออฟฟิศเมทในการดำเนินธุรกิจการขายอุปกรณ์เครื่องเขียนสำนักงานเพียงแบรนด์เดียว พร้อมยุติการใช้แบรนด์ออฟฟิศ ดีโปลง และจะให้ทำออฟฟิศเมทมีจำนวนสาขาเป็น 44 สาขาทั่วประเทศแทน จากเดิมออฟฟิศเมทไม่มีหน้าร้านหรือสาขา มุ่งขายผ่านออนไลน์อย่างเดียว

โดยในส่วนของแผนการขยายสาขานั้น ประเดิมสาขาแรกแล้วที่อาคารยูไนเต็ด สีลม เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเน้นขยายสาขาปีละ 10 สาขา สู่เป้า 100 สาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นการขยายสาขาที่ไปกับทางกลุ่มเซ็นทรัล พื้นที่ราว 500-1,000 ตารางเมตร จากปกติจะใช้พื้นที่ 500-1,500 ตารางเมตร 

ส่วนบีทูเอสนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 82 สาขา แผนการดำเนินงานเบื้องต้น ทางออฟฟิศเมทจะเข้าไปวางระบบออนไลน์ และอีบุ๊ก ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนแผนการขยายสาขานั้นยังคงขยายต่อเนื่อง แต่จะมุ่งเน้นโมเดลที่มีขนาดเล็กลงมา จับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก เพราะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบีทูเอส ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนและก่อให้เกิดกำไรขั้นต้นสูงขึ้นในระยะยาว 

ส่วนงบลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ไม่มาก โดยปีนี้จะมีการลงทุนด้านดีซี พื้นที่ 300 ตารางเมตร จำนวน 4 แห่ง คือ ภูเก็ต หาดใหญ่ ขอนแก่น และเชียงใหม่ และลงทุนต่อเนื่องของออฟฟิศเมทจากปีก่อนอีก 100 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่คลังสินค้าที่หนองจอก จากเดิมขนาด 7,200 ตารางเมตร ปีนี้เพิ่มเป็น 15,000 ตารางเมตร รองรับการขยายตัวได้อีก 5 ปี  

สำหรับแผนการดำเนินงานสู่อาเซียนนั้น จะเริ่มดำเนินงานภายใน 3 ปีหลังจากนี้ โดยเป็นการใช้แบรนด์ ออฟฟิศเมท ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยบุกตลาดมีทั้งสโตร์พื้นที่ขนาด 500-1,500 ตารางเมตร และแบบออนไลน์ 
โดยตลาดอาเซียน มีคู่แข่งน้อย 2-3 รายเท่านั้น มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าเรา 2-3 เท่า

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อรวม 2 กลุ่มธุรกิจเข้าด้วยกันแล้ว ส่งผลให้ภาพรวมรายได้ในปี 2555 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ปีนี้มองว่าจะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ขณะที่ตลาดรวมเครื่องเขียนสำนักงานมูลค่า 25,000-30,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าจีดีพีของประเทศอีก 3% โดยปีนี้มีปัจจัยบวกหลายเรื่องที่เอื้อต่อการเติบโตสูงขึ้นไปอีก ทั้ง 3จี, ไฮสปีด
อินเทอร์เน็ต และ ภาษีออนไลน์ที่จะเข้มงวดขึ้น ทำให้รายเล็กที่ขายผ่านออนไลน์ต้องมีการขยับราคาสินค้าเพื่อการจ่ายภาษี ทำให้ตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบนั้น มีเพียงเรื่องของการเมืองโดยเฉพาะเรื่องม็อบ และภัยธรรมชาติเท่านั้น หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องเขียนสำนักงานตามมา

อย่างไรก็ตามเมื่อแยกรายได้เฉพาะของออฟฟิศเมทแล้ว สิ้นปี 2555 ที่ผ่านมา มีรายได้ที่ 1,700 ล้านบาท เติบโตขึ้น 32% สูงสุดในรอบ 4 ปี จากปกติโต 20-25% โดยยอดขายหลักกว่า 20% มาจากอุปกรณ์ไอที เช่น น้ำหมึก เครื่องพริ้นท์ เป็นต้น รองลงมาคือ กระดาษ 10% สินค้าแคนทีน เช่น ชา กาแฟ อุปกรณ์ทำความสะอาด 10% ส่วนออฟฟิศดีโปปีก่อนทำรายได้ไว้ที่ 3,200 ล้านบาท เติบโต 18%  

อนึ่งหลังควบรวมกิจการ ปัจจุบันออฟฟิศเมท มีผู้ถือหุ้นหลักแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มจิราธิวัฒน์ถือหุ้น 75% และอีก 25% มาจากกลุ่มออฟฟิศเมท โดยกลุ่มนี้ทางตระกูลอุ่นใจถือหุ้นอยู่ 15-16% ด้วย ส่วนทุนจดทะเบียนนั้นจากเดิมอยู่ที่ 80 ล้านบาท เพิ่มเป็น 320 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น