xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.เตรียมแจกแผ่นพับแจงราคาแอลพีจี ยันครัวเรือนไม่ได้สูงกว่าปิโตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนพ.เตรียมแจกแผ่นพับทั่วประเทศ แจงละเอียดยิบโครงสร้างราคาแอลพีจีทุกภาคส่วน หวังให้เลิกคาใจใครอุ้มใครกันแน่ ยันแอลพีจีครัวเรือนไม่ได้แพงกว่าปิโตรเคมี การปรับโครงสร้างราคาคือการเลิกนโยบายประชานิยม
 

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างจัดพิมพ์แผ่นพับเพื่อชี้แจงโครงสร้างราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ในปัจจุบัน และเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องปรับราคาให้สะท้อนกลไกตลาดโลกเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้โดยตรง เพราะการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อมาอุดหนุนนั้นเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้น้ำมันซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งรถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ และการอุดหนุนดังกล่าวถือเป็นการประชานิยมอีกรูปแบบหนึ่งมาโดยตลอด

“การปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีคือการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ด้วยการลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯ ลงมาที่ปีหนึ่งต้องควักอุดหนุน 4-5 หมื่นล้านบาท และอนาคตเมื่อภาระไม่มีราคาน้ำมันก็จะต่ำลงได้ ผมก็ไม่เข้าใจเมื่อหลายฝ่ายไม่ชอบนโยบายประชานิยมแล้วทำไมไม่เลิกในเมื่อแอลพีจีที่ถูกอุดหนุนอยู่ โดยคนใช้น้ำมันคือการประชานิยมรูปแบบหนึ่ง” นายสุเทพกล่าว

สำหรับโครงสร้างราคาแอลพีจีปัจจุบันยืนยันว่ากลุ่มครัวเรือนไม่ได้ใช้ราคาแพงกว่าปิโตรเคมีแต่อย่างใด โดยราคาครัวเรือนต้นทุนจริงอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยยึดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ตรึงไว้ที่ 333 เหรียญต่อตัน แต่เมื่อรัฐนำมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1 บาทต่อ กก. ภาษีสรรพสามิต เทศบาล ฯลฯ ราคาขายปลีกจึงมาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก. ซึ่งบางฝ่ายมองว่าก๊าซหุงต้มควรจะยึดราคาก๊าซฯ อ่าวไทยก็คือโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งขณะนี้ราคาต้นทุนอยู่ที่ 550 เหรียญต่อตัน หรือ 16.13 บาทต่อ กก. ก็จะเห็นว่าที่อิง 333 เหรียญต่อตันยังต่ำกว่าต้นทุนจริงด้วยซ้ำไป

ขณะที่แอลพีจีที่ขายปิโตรเคมีที่บางฝ่ายระบุว่าขายเพียง 16.13 บาทต่อ กก.นั้นเป็นการนำตัวเลขเดียวจากราคาโรงแยกก๊าซฯ มาระบุ แต่ข้อเท็จจริงราคาที่ขายปิโตรเคมีจะต้องเป็นราคาเฉลี่ยที่นำมาจากโรงกลั่นและแนฟทาด้วย รวมแล้วอยู่ที่ 723 เหรียญต่อตัน หรือต้นทุนอยู่ที่ 22.30 บาทต่อ กก. เมื่อรวมเงินกองทุนฯ ราคาอยู่ที่ 24.93 บาทต่อ กก. และเมื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายก็จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT อีกราว 6 บาทต่อ กก. รวมราคาแล้วจึงเป็น 31 บาทต่อ กก. ซึ่งยังไม่ได้คิดค่าการตลาดและภาษีอื่นๆ อีก

“แอลพีจีที่ขายปิโตรฯ ไม่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตเพราะรัฐบาลสมัยนั้นกำลังส่งเสริมอุตฯ ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจึงออกระเบียบยกเว้นให้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2532 เพราะเห็นว่าการไปเก็บภาษีปลายทางจะได้เม็ดเงินเข้ารัฐมากกว่าต้นทุนนั่นเอง โดยอุตฯ ปิโตรรัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 หมื่นล้านบาทต่อปี แยกเป็นมูลค่าที่เกิดจากการใช้แอลพีจีประมาณ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินภาษีที่ได้คืนมาประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี” นายสุเทพกล่าว

สำหรับราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมนั้นมีการปรับราคาไตรมาสละ 3 บาทต่อ กก. และล่าสุดรัฐได้เห็นชอบกำหนดเพดานราคาไว้ไม่ให้เกิน 30.13 บาทต่อ กก. ขณะที่ภาคขนส่งขณะนี้ราคาอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. ขณะที่การใช้ภาคขนส่งนั้นกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นปีนี้สูงถึง 16% ขณะที่ราคาแอลพีจีตลาดโลกเดือน ม.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 955 เหรียญต่อตัน หรือคิดเป็น 33.7 บาทต่อ กก.
 
“มีคนบอกว่าแล้วทำไมเราไม่ออกกฎหมายเพื่อให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตกับแอลพีจีกลุ่มอื่นๆ เหมือนกับปิโตรล่ะ ซึ่งก็ต้องคิดว่าแอลพีจีสาขาอื่นนำไปเพิ่มมูลค่าได้หรือไม่นอกเสียจากเผาทิ้งไป ดังนั้นการที่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตต้นทางก่อนจึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว” นายสุเทพกล่าว 
 
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ
กำลังโหลดความคิดเห็น