“พี.ซี.แอร์” ฟ้องดำเนินคดี “บริษัทน้ำมัน-เอเยนต์ขายตั๋ว” คู่กรณีเกาหลี เรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาท หลังทำให้สายการบินต้องหยุดบินจนผู้โดยสารตกค้างจำนวนมากที่สนามบินอินชอน
นายปีเตอร์ ชาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน พี.ซี.แอร์ เปิดแถลงข่าวชี้แจงการแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันแจชิน (เกาหลีใต้) และบริษัท SKY Jet เอเยนต์จำหน่ายตั๋วโดยสารที่ประเทศเกาหลีใต้เรียกร้องค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาทว่า ขณะนี้ได้แจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจคังซอ เมืองอินชอน และอยู่ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยระบุว่าเป็นคดีอาชญากรรมทางการเงินที่มีการแบล็กเมล์เรียกร้องเงินจากสายการบิน พี.ซี.แอร์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการใช้ผู้โดยสาร พี.ซี.แอร์เป็นตัวประกัน
นายปีเตอร์ ะบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2555 พี.ซี.แอร์ได้ชำระเงินค่าน้ำมันเป็นเงิน 160,000 ดอลลาร์สหรัฐให้บริษัท SKY Jet เพื่อชำระค่าน้ำมัน โดยหุ้นส่วนชาวไทยของ พี.ซี.แอร์ ได้นำเงินสดไปชำระให้ ซึ่ง พี.ซี.แอร์ มีภาพหลักฐานในการชำระเงินมาชี้แจงให้ผู้สื่อข่าวด้วย จากนั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2555 บริษัทน้ำมันแจชินได้ส่งเอกสารให้ พี.ซี.แอร์จ่ายเงินเพิ่มอีก 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับมอบสิทธิการเป็นผู้จำหน่ายตั๋วโดยสารในประเทศไทยให้แก่บริษัท SKY Jet โดยระบุว่า หาก พี.ซี.แอร์ไม่ดำเนินการตามจะไม่สามารถทำการบินได้ แต่ พี.ซี.แอร์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องใด ขณะที่บริษัท วีนาโมนา ก็เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วในประเทศไทยของ พี.ซี.แอร์ โดยมีสัญญาถูกต้อง ซึ่งหลังจาก พี.ซี.แอร์ปฏิเสธทำให้เกิดปัญหาการปิดเคาน์เตอร์ และไม่เติมน้ำมันให้เครื่องบินจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาผู้โดยสารตกค้างดังกล่าว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว พี.ซี.แอร์ได้พยายามดูแลผู้โดยสาร ทั้งที่ควรจะเป็นหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายตั๋วในเกาหลีใต้ จนผู้โดยสารเดินทางกลับประเทศไทยได้ทั้งหมดในวันที่ 19 ตุลาคม 2555
สำหรับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทั้ง 2 บริษัท เป็นวงเงิน 1,500 ล้านบาท นอกจากเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับชื่อเสียงของ พี.ซี.แอร์ รวมทั้งรายได้ที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ พี.ซี.แอร์ยังไม่สามารถทำการบินได้ รวมทั้งเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่จะมาชดเชยกับผู้โดยสารชาวไทยที่ประสบเหตุตกค้างที่สนามบินอินชอนกว่า 25 ชั่วโมง ส่วนสาเหตุที่ พี.ซี.แอร์ เพิ่งจะออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวนั้น นายปีเตอร์กล่าวว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พี.ซี.แอร์ได้ใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐาน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางบัญชีการเงินของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีการนำค่าน้ำมันที่ พี.ซี.แอร์ชำระไปเข้าบัญชี แต่มีการนำเข้าบัญชีอีกครั้งหลังวันที่ 19 ตุลาคม 2555 ซึ่งเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้ว
สำหรับการที่สายการบิน พี.ซี.แอร์จะกลับมาทำการบินอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่าง พี.ซี.แอร์ บอกยกเลิกการทำธุรกิจกับบริษัท SKY Jet และบริษัทน้ำมันแจชิน ซึ่งจะใช้เวลาในการยกเลิกสัญญาประมาณ 2 สัปดาห์และหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจด้วย โดยจะใช้เวลารวมทั้งสิ้นราว 30 วัน พี.ซี.แอร์จะกลับมาทำการบินตามปกติได้ โดยปัจจุบัน พี.ซี.แอร์ยังมีใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนให้ทำการบินได้
นายปีเตอร์ ชานระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการสายการบินเอกชนที่จะเปิดขึ้นใหม่หลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นำเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาและระมัดระวังในการทำธุรกิจกับบริษัทที่ไม่สุจริต จนเกิดปัญหาแบบเดียวกันกับสายการบิน พี.ซี.แอร์