กระทรวงพลังงานเล็งปรับโมเดลพลังงานญี่ปุ่น เดินหน้าแผนพลังงานชาติรองรับเปิด AEC ปี 2558 หวังผุดสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์กว่าแสนล้านบาท เล็งสรุปแผนลงทุนปีหน้า “ปตท.” ชี้พื้นที่สัตหีบเหมาะ ระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ ด้าน “กฟผ.” ดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกดค่าไฟ
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการเดินทางไปศึกษาดูงานคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) Shirashima ซึ่งบริหารโดย บ.Japan Oil,Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) ที่เมืองฟูกุโอกะ และโรงไฟฟ้าถ่านหินอิโซโกะ ของ บ. J-Power ที่โยโกฮามา ร่วมกับสื่อมวลชน กรรมาธิการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร บมจ.ปตท. บมจ.ไทยออยล์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 การใช้พลังงานของไทยจะขยายตัวมากตามการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานไทย จึงต้องเตรียมแผนด้านพลังงานไว้รองรับเพื่อความมั่นคงและการเสริมศักยภาพไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคนี้ ไทยจึงมีแผนที่จะดำเนินโครงการจัดทำสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เป็น 90 วัน จากปัจจุบันสำรองน้ำมันดิบและสำเร็จรูป 5% ของการขาย หรือ 36 วัน
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นอันดับ 3 ของโลก และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหินสูงสุดในโลกเพราะมีแหล่งพลังงานในประเทศน้อยมาก และมีข้อจำกัดพื้นที่สร้างซึ่งคล้ายกับไทยเราจึงต้องมองอนาคตไว้ ซึ่งการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์คล้ายกับการทำประกันที่จะทำให้คนไทยและนักลงทุนมั่นใจว่ายามวิกฤตเราจะมีปัญหาน้อยลง ส่วนรูปแบบลงทุนกำลังศึกษา เราหวังว่าปี 56 น่าจะพอเห็นรูปร่าง” นายณอคุณกล่าว
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์รัฐจะเป็นเจ้าของน้ำมันแต่การบริหารสามารถให้เอกชนดำเนินการได้ ซึ่ง ปตท.และบริษัทในเครือ ปตท.มีศักยภาพเพียงพอที่จะให้การบริการดังกล่าวหากโครงการเกิดขึ้น โดยภาพรวมการลงทุนน่าจะเป็นระดับกว่าแสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนนั้นก็อยู่ที่รัฐจะนำเงินมาจากที่ใด ส่วนตัวมองว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะนำมาลงทุนได้เพราะไม่ต้องเน้นผลตอบแทนมากนัก ขณะที่พื้นที่เห็นว่าพื้นที่ทหารเรือที่สัตหีบน่าจะเหมาะสมในการสร้างระบบคลังสำรอง
นายสุรศักดิ์ ศุภวิฑิตพัฒนา รองผู้ว่าการการผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นใช้ถ่านหินผลิตไฟในสัดส่วนถึง 21% ในการผลิตไฟ และจะใช้เพิ่มขึ้นในอนาคตหลังประชาชนกังวลต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังเกิดสึนามิ ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากสุดในโลกซึ่งมีความสะอาดเทียบเท่าการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง โดยส่วนของไทยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีได้มอบให้ กฟผ.พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งโรงแรกจะนำร่องที่จังหวัดกระบี่
“กฟผ.ก็อยากให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ถ่านหินที่ต่างจากอดีต และที่สำคัญไม่เพียงความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่จะต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ไทยพึ่งก๊าซฯ สูงถึง 70% ขณะเดียวกันถ่านหินมีต้นทุนผลิตไฟออกมาต่ำกว่าจะช่วยถ่วงดุลค่าไฟฟ้าไม่ให้แพงได้หากราคาก๊าซฯ สูงขึ้น” นายสุรศักดิ์กล่าว