xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ตั้ง กก.สุ่มตรวจราคากลางประมูล หวังลบภาพทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติตั้ง “วิเชียร” ประธานต่อต้านการทุจริต สั่งสุ่มตรวจโครงการประมูลวงเงินเกิน 100 ล้านบาทของทุกหน่วย หวังเคลียร์ปมถูกอภิปราย พร้อมเปิดอีเมลเพิ่มช่องทางรับแจ้งข้อมูลการทุจริตตรงจากประชาชนและข้าราชการ สั่งห้ามมีคนนามสกุลเดียวกับข้าราชการหรือนักการเมืองร่วมประมูลงาน หากมีต้องชี้แจงเหตุผล กรมเจ้าท่าแจงไม่ประกันผลงานเฉพาะขุดลอกแหล่งน้ำเป็นเหตุตะกอนสะสมคุมไม่ได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดว่า ได้มีการพิจารณาภาพรวมการดำเนินงานของทุกหน่วยงานในประเด็นที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนโยบายหลักต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามกฎระเบียบ แล้วต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล และเรื่องบุคลากรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมูลหรือรับงานจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าราชการหรือนักการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะจะทำให้สังคมเกิดข้อกังขาได้ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตขึ้น โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการกำหนดราคากลางอาจยังไม่เหมาะสม และการกำกับดูแลการทำงานของผู้รับเหมาที่ยังไม่เข้มข้นทำให้มีช่องว่างในการทุจริตได้ ดังนั้น ได้สั่งให้คณะกรรมการต่อต้านทุจริตสุ่มตรวจราคากลางของโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท หน่วยงานละ 2 โครงการ เพื่อพิจารณาว่าวิธีการกำหนดราคากลางของโครงการนั้นๆ ถูกต้องตามแนวทางหรือไม่ เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกรมหรือไม่ มีจุดไหนที่จะต้องปรับปรุงบ้าง ซึ่งอาจจะต้องหาผู้เชี่ยชาญมาช่วยประเมินวิธีกำหนดราคากลาง และวิธีการติดตามประเมินคุณภาพการทำงานของผู้รับเหมา เชื่อว่าหากราคากลางกำหนดได้อย่างถูกต้องและการกำกับดูแลเป็นไปตามสัญญาเข้มข้นเป็นการปิดหัวปิดท้าย จะทำให้ช่องว่างการทุจริตเหลือน้อยลง มีกำไรกันตามปกติ ซึ่งนำไปจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางไม่ได้ 

“การชนะอภิปรายไม่สำคัญเพราะเป็นเรื่องของผลโหวต ที่สำคัญคือความเห็นของประชาชนว่ามองอย่างไร รู้สึกกับข้อมูลนั้นอย่างไร แล้วก็ไปแก้ไขปรับปรุงตรงนั้น ยืนยันว่าหลายอย่างที่ทำแล้วถูกระเบียบ แต่ถ้าอธิบายสังคมไม่ได้ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ก็ถือว่าไม่ได้ เพราะเรื่องธรรมาภิบาลสูงกว่าระเบียบ สูงกว่ากฎข้อบังคับ” นายชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มช่องทางการแจ้งข้อมูลทุจริตหรือความไม่ถูกต้อง รวมถึงให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาผ่านอีเมล mot.transparency@mot.go.th โดยทุกข้อมูลจะส่งตรงไปยังคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสรุปและส่งเรื่องให้รัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเชื่อว่ายังมีข้าราชการที่ดีที่พร้อมจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนการชี้แจงของแต่ละหน่วยงานให้เน้นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีความคลาดเคลื่อนอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงประเด็นทางการเมือง เช่น กรณีการประมูลขุดลอกฟื้นฟูร่องน้ำกรมเจ้าท่าต้องชี้แจงและตอบข้อสงสัยของสังคม เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ติดระบบ GPS เพื่อให้รู้พิกัด จุดขุดลอกเพื่อแจ้งถึงความคืบหน้า ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการขุดลอกจริงหรือไม่ เป็นต้น

ด้านนายพงษ์วรรณ จารุเดชา รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)  กล่าวว่า กรณีที่สัญญาขุดลอกของกรมเจ้าท่าไม่มีรูปแบบรายละเอียดการดำเนินงานนั้น ปัจจุบันกรมฯ มีแผนที่เบื้องต้นสัดส่วน 1 ต่อ 50,000 ใช้ประกอบการจ้าง ใช้บอกพิกัด X Y บอกพิกัดตอนต้น ตอนปลาย บอกหมู่บ้าน ตำบล หรือจังหวัด บอกระยะทาง โดยสาเหตุที่ไม่ทำแผนที่รายละเอียดเพราะสัญญาโครงการขนาดนั้นต้องมีระยะเวลาดำเนินการ 3-6 เดือน ทำไปมีฝนตก มีตะกอนมีน้ำขึ้น น้ำลง แผนที่ตรงนั้นก็จะไม่เป็นปัจจุบัน กรณีที่ฝ่ายค้านบอกว่าผู้รับเหมาออกแบบเองนั้นก็ไม่ใช่เพราะกรมเจ้าท่าออกแบบเองแล้วให้เขาปฏิบัติ เขาขุดแล้วกรมเจ้าท่าควบคุม 

ส่วนกรณีไม่มีการรับประกันงาน เนื่องจากการขุดลอกแม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นแหล่งน้ำเปิดตามธรรมชาติ หากมีฝนตกตลิ่งจะพัง น้ำขึ้นลงตลิ่งจะพัง เป็นที่มาของตะกอนสะสม จึงไม่มีการรับประกัน เพราะไม่เหมือนแหล่งน้ำปิด คือ หนองน้ำ บึง รับประกันงานได้ ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 ส่วนการให้รับประกันงานนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ แต่ราคาต่อหน่วยในการขุดลอกจะสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปราย กรมฯ ได้ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองตามข้อเสนอแนะ เนื่องจากฝ่ายพัสดุจะตรวจตามระเบียบพัสดุ ฝ่ายกฎหมายก็จะตรวจตามเงื่อนไขสัญญา จึงเห็นว่าข้อเท็จจริงในสนามจำเป็นต้องมีคนตรวจด้วย ก็เป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานกลั่นกรองขึ้นมา มี 2 ชุด ชุดแรกมีวิศวกรของสำนักขุดลอกโครงการ และวิศวกรของสำนักดำเนินการจะดูในส่วนของงบฟื้นฟู ส่วนชุดที่ 2 จะดูโครงการในส่วนงบประจำปี 2555 ที่จ้างขุดลอกแม่น้ำลำคลองปัจจุบันเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
กำลังโหลดความคิดเห็น