กมธ.สอบโกง วุฒิสภา ซักเลิกสอบไซฟ่อนเงินฮ่องกง เผย “มงคลกิตติ์” ส่งเอกสารไม่เกี่ยวเลย แถมไม่บอกชื่อใครทำบ้าง จ่อส่ง ป.ป.ช.-ปปง.สอบต่อ “ส.ว.นิรันดร์” หวั่นโดนใช้เป็นเครื่องมือ ด้าน ส.ว.กทม.แนะศึกษาเพื่อแก้กฎหมายฟอกเงิน “ส.ว.ประสงค์” หนุนเชิญ “เอกยุทธ” ถามข้อมูล บอกถ้าใช้โจรจับโจรย่อมง่ายขึ้น
วันนี้ (1 พ.ย.) ที่ห้อง 311 อาคารรัฐสภา 2 การประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เป็นประธาน กมธ. ได้มีการหารือถึงประเด็นการยุติตรวจสอบการไซฟ่อนเงินไปยังฮ่องกง จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ตามที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น (ภตช.) ได้ยื่นเรื่องต่อ กมธ. โดย น.ส.สุมลชี้แจงว่าเอกสารตามที่นายมงคลกิตติ์ได้มอบเป็นความลับต่อ กมธ.นั้นไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการไซฟ่อนเงินแต่อย่างใด มีเพียงเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตงบประมาณป้องกันน้ำท่วม ทุจริตจำนำข้าว และโครงการอาชีวศึกษาเท่านั้น อีกทั้งรายชื่อย่อที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการไซฟ่อนเงินก็ไม่เปิดเผยให้เราทราบได้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง ออกคำสั่งให้ทาง กมธ.ไปติดตามเรื่องเอง โดยให้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อให้มีอำนาจเรียกสอบบุคคลเข้าชี้แจง นอกจากนี้ ผู้ที่อ้างว่ารู้เห็นข้อมูลอย่าง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือแม้แต่ ป.ป.ช.ฮ่องกง ก็พูดตรงกันว่าไม่ทราบเรื่อง ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เราควรส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ตรวจสอบต่อไป และทาง กมธ.ก็จะติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อมูลทั้ง 3 เรื่องที่ได้รับนั้นเราก็จะได้ศึกษาตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติมเช่นกัน
ด้านนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ.กล่าวเห็นพ้องว่า คิดว่าการยื่นร้องเอกสารของนายมงคลกิตติ์เป็นการร้องที่ไม่น่าเข้าข่ายลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ แต่เมื่อมาดูพยานเอกสารก็ไม่มี พยานหลักฐานก็ไม่ชัดเจน ซึ่งคิดว่าถ้านายมงคลกิตติ์สามารถเปิดเผยรายชื่อเป็นการส่วนตัวต่อ กมธ.น่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้ จะได้เป็นช่องทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้นเพราะการมาร้องเฉยๆ เช่นนี้ ทาง กมธ.อาจกลายเป็นเครื่องมือให้เขาเล่นงานคนอื่นเปล่าๆ
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. รองประธาน กมธ.กล่าวว่า คิดว่าแม้เราจะไม่สามารถสืบต่อได้ แต่ในประเด็นการไซฟ่อนยังเป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพราะถือเป็นปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในต่างประเทศเขาเข้มงวดต่อการตรวจสอบที่มาของเงินมาก ขณะที่กฎหมาย ปปง.ของไทยกลับไม่สามารถตรวจสอบภาษีโยงกับฐานรายได้เดิมของแต่ละบุคคล จึงเป็นไปได้ไหมว่าทาง กมธ.จะศึกษาและเสนอกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะเกินที่รัฐธรรมนูญกำหนดขอบข่ายอำนาจหรือไม่อย่างไร
ทำให้นายประสงค์ ตันมณีรัตนา ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ.เสนอว่า วุฒิสภาอย่างเราไม่ได้อยู่ในวงการนักธุรกิจอยู่แล้ว ย่อมไม่สามารถรู้ลึกซึ้งข้อมูลเท่าทันเกมโกงได้ แต่ถ้าตนจะเสนอให้ลองเชิญนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ซึ่งต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในอดีตเคยต้องคดีแชร์ชาร์เตอร์ และกบฏทหารนอกราชการ เมื่อ พ.ศ. 2528 และหลบคดีออกนอกประเทศ เพิ่งจะเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากคดีหมดอายุความแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าถ้าเราอาศัยโจรจับโจรด้วยกันย่อมง่ายขึ้น แต่อยู่ที่ว่าผู้ที่เราเชิญเขาจะยินดีหรือไม่