xs
xsm
sm
md
lg

ได้ฤกษ์ตอกเข็มด่วนศรีรัช 15 ธ.ค. กทพ.ชูทางด่วนไทยเป็นสี่แยก AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
“กทพ.” ดันผุดทางด่วนข้ามประเทศรับ AEC ผ่านชายแดน 4 ด่าน ชูระบบทางด่วนไทยต้องเป็นสี่แยกของอาเซียน เผย 15 ธ.ค.นี้ BECL จะเริ่มสร้างด่วนศรีรัชแล้ว ยันเสร็จใน 48 เดือน ส่วนปี 56 เตรียมเสนอขอลงทุนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ 4 หมื่นล้าน เชื่อมโครงข่ายให้สมบูรณ์

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในโอกาสที่ครบรอบก่อตั้ง กทพ.ปีที่ 40 ว่า การก่อสร้างทางพิเศษนอกจากเน้นการเชื่อมโครงข่ายให้สมบูรณ์แล้วยังเน้นโครงข่ายที่รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทางด่วนของไทยเป็นสี่แยกของ AEC ซึ่งในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร วงเงินรวม 32,816 ล้านบาทจะเริ่มการก่อสร้างโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 48 เดือน ขณะนี้การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินคืบหน้า 60% โดยใช้ที่ดินของเอกชน20% เวนคืนไปแล้วเกือบหมดแล้ว ที่ดินส่วนราชการคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.)อีก 80% อยู่ระหว่างประสานงาน ซึ่งไม่มีปัญหาในการทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษอีก 2 โครงการ คือ 1. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, N2, N)ระยะทาง 43.2 กิโลเมตร โดยอยู่ระหว่างทบทวนการศึกษาความเหมาะสมกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2556 จากนั้นจะเสนอขออนุมัติโครงการ คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2558 วงเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยจะก่อสร้างในช่วง N2 (สี่แยกเกษตรศาสตร์-ถนนนวมินทร์) ระยะทาง 9.2 กม. และช่วง N3 (ถนนนวมินทร์-ถนนศรีนครินทร์จุดบรรจบระหว่างทางพิเศษศรีรัช) ระยะทาง 11.5 กม. ก่อนเนื่องจากมีโครงสร้างตอม่ออยู่แล้ว ซึ่งโครงการจะทำให้การเดินทางจากด้านตะวันออก-ตะวันตกของ กทม.ได้สะดวกมากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านใจกลางเมือง และ2.โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร โดยจะก่อสร้างไปบนถนนพระราม 2 คาดว่าจะเริ่มศึกษาได้กลางปี 2556

ส่วนทางพิเศษรองรับ AEC จะอยู่บริเวณด่านชายแดน 4 จุด คือ แม่สาย แม่สอด มุกดาหารและสะเดา ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มีศูนย์บริการธุรกรรมต่างๆ one stop service เช่น ภาษี การผ่านแดน และค่าธรรมเนียมซึ่งจะสะดวกรวดเร็วกว่าการผ่านแดนโดยเส้นทางปกติ ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลและจะศึกษารายละเอียดโครงการในปี 2556-2557 เบื้องต้นจะลงทุนค่าก่อสร้างและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแห่งละประมาณ 3,000 ล้านบาท การใช้ทางด่วนผ่านแดนจึงเป็นทางเลือกรองรับธุรกิจที่จะมีการเติบโตและมีมูลค่าการค้าขายข้ามแดนเพิ่มขึ้นจากการเปิดAEC

สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นมี 2 วิธี คือ กทพ.ลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยจะนำผลศึกษาและนโยบายมาพิจารณาประกอบกัน โดยวิเคราะห์ผลตอบแทนและจุดคุ้มทุนของโครงการ อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ถือเป็นปีที่จะมีการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เช่น ระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS) ที่ตรวจสอบสภาพจราจรบนทางด่วนได้ผ่าน Application สำหรับสมาร์ทโฟน ซึ่ง กทพ.จะร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจจราจร บก.จร.เพื่อเชื่อมข้อมูลกัน โดยจะให้บริการได้ครบทุกสายทางไม่เกินกลางปี 2556

กำลังโหลดความคิดเห็น