xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงเผยพระราม 2 เสี่ยงยุบตัว เหตุพบโพรงใต้ถนนมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
กรมทางหลวงสแกนถนน 6 สายหลักใน กทม.และปริมณฑล ที่ถูกน้ำท่วมเช่น สุวินทวงศ์-พระราม 2-วิภาวดีรังสิต-บรมราชชนนี ตรวจสอบโพรงใต้ถนน พบพระราม 2 น่าห่วงทรุด เหตุสภาพดินอ่อนใช้งานมานาน มีรถบรรทุกหนักใช้มาก

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเกิดการยุบตัว เช่น ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนางานทางและสำนักทางหลวงที่ 11 (กรุงเทพฯ) กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการสำรวจตรวจสอบและซ่อมแซมโพรงใต้ดินเร่งด่วนไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่อง GPR (Ground Penetration Radar) ถนนอีกหลายสายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เช่น ถนนสุวินทวงศ์ ถนนพระราม 2 ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนบรมราชชนนี โดยพบว่าถนนพระราม 2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดโพรงมากที่สุด เนื่องจากมีรถบรรทุกหนักใช้เส้นทางจำนวนมาก และเป็นถนนที่ก่อสร้างบนดินอ่อน ซึ่งมีอัตราการทรุดตัวแต่ละปีเร็ว ซึ่งโพรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นช่วงคอสะพาน

ทั้งนี้ กรมฯจะนำเครื่อง GPD จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำรวจความหนาของโครงสร้างชั้นทาง สำรวจตำแหน่งสาธารณูปโภคใต้ถนน ตำแหน่งโพรงขนาดใหญ่ใต้ถนน โดยส่งสัญญาณเรดาร์ลงไปใต้ผิวถนนและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสำรวจว่าใต้พื้นผิวจราจรจุดใดมีโพรงใต้ดิน โดยใช้คลื่นความถี่ต่ำ จากนั้นจะสำรวจถนนวิภาวดีและถนนบรมราชชนนี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

สำหรับถนนพระราม 2 นั้นจะต้องมีการซ่อมใหญ่ โดยจะต้องปิดถนนเป็นช่วงๆละ 10-20 กิโลเมตร วงเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบกับการจราจร ดังนั้นจะต้องมีการประเมินผลกระทบก่อน และจะต้องวางแผนร่วมกันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีแผนก่อสร้างทางพิเศษต่อจากทางพิเศษดาวคะนอง ไปตามแนวถนนพระราม 2 ด้วย โดยในระยะเร่งด่วน จะมีการตรวจสอบสภาพถนนตลอดเวลา หากพบการชำรุด จะเป็นการซ่อมเร่งด่วนเป็นการซ่อมย่อยเป็น วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท

“น้ำท่วมทำให้ทรายที่อยู่ใต้ถนนถูกพัดหายไป ซึ่งถนนพระราม 2 พบว่ามีโพรงหลายจุด เพราะสภาพดินตรงนั้นอ่อน ถนนสร้างมานานแล้วทรุดทุกปี ต้องมีการซ่อมแซมบูรณะทั้งเส้นทางครั้งใหญ่ แต่ต้องประเมินผลเสียหายอื่นๆ ด้วยเพราะรถใช้ถนนเส้นนี้มาก” นายชัชชวาลย์กล่าว

สำหรับการบูรณะฟื้นฟูทางหลวงที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยนั้นนายชัชวาลย์กล่าวว่า กรมทางหลวงได้รับจัดสรรงบใน 2 ส่วน คือ จากงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท โดยได้รับ 1 หมื่นล้านบาท ดำเนินการ 600 โครงการ ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 80-90% โดยจะแล้วเสร็จทั้งหมด 100% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และการจัดสรรจากงบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท โดยได้รับจัดสรรวงเงิน 9,000 ล้านบาท ดำเนินการ 91 โครงการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง และคาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้รับเหมาครบทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้ และเริ่มเข้าดำเนินงานได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น