xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.เด้งแผนซื้อรถ 800 คัน ชี้ขาดข้อมูลเชิงลึกยังตัดสินใจไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เบรกซื้อรถไฟฟ้า 800 ตู้ ชี้ข้อมูลไม่พอตัดสินใจ สั่งศึกษาเชิงลึกเพิ่ม นัดถกวาระพิเศษ 22 พ.ย.อีกครั้ง พร้อมพิจารณารูปแบบเดินรถสีน้ำเงินและสีเขียว เผยปี 55 ขาดทุนสุทธิ 675 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน เหตุได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ชงคมนาคมแก้ พ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดวานนี้ (15 พ.ย.) ว่า บอร์ดยังไม่เห็นชอบแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้า 800 ตู้ วงเงิน 40,000 ล้านบาทที่ฝ่ายบริหารเสนอ โดยให้กลับไปศึกษารายละเอียดเชิงลึกเพิ่มเติม เช่น ข้อดี ข้อเสีย ความสามารถของรัฐในการจัดงบประมาณ และให้นำเสนอบอร์ดวาระพิเศษวันที่ 22 พ.ย. 55 นี้อีกครั้ง ซึ่งบอร์ดจะหารือถึงรูปแบบการเดินรถสายสีเขียวและสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วย

ทั้งนี้ การจัดซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 800 ตู้เป็นจำนวนสูงสุด โดย รฟม.เป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าเองหมดทุกสาย หากให้เอกชนเป็นผู้เดินรถจำนวนรถไฟฟ้าที่ต้องซื้อต้องลดลงไปด้วย ซึ่งขณะนี้รูปแบบการเดินรถในแต่ละสายยังไม่ชัดเจน ซึ่งนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะบอร์ด รฟม.ได้ให้แนวคิดว่า รถไฟฟ้าแต่ละสายมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการเดินรถจะแตกต่างกันด้วย

สำหรับการลงทุนและการให้บริการเดินรถที่ฝ่ายบริหาร รฟม.นำเสนอมี 7 รูปแบบ คือ 1. PPP-NC (เอกชนร่วมทุน ให้สัมปทานแบบ Net Cost) โดยเอกชนรับผลประโยชน์และรับความเสี่ยง (รายได้) จากค่าโดยสาร และเดินรถและซ่อมบำรุงโดยจ่ายผลตอบแทนหรือรับค่าชดเชยจากรัฐ 2. PPP-GC (เอกชนร่วมทุน จ้างเดินรถแบบ Gross Cost) รัฐรับประโยชน์ รับความเสี่ยงค่าโดยสาร เอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง โดยรับค่าจ้างเดินรถจากรัฐตามอัตราที่ตกลง โดยไม่เกี่ยวกับค่าโดยสาร 3. PPP-MGC (เอกชนร่วมทุน จ้างเดินรถแบบ Modified Gross Cost) รัฐรับประโยชน์รับความเสี่ยงค่าโดยสาร เอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง รับค่าจ้างเดินรถจากรัฐโดยมีส่วนเพิ่มหรือลดของจำนวนผู้โดยสารเกี่ยวข้อง

4. PSC-NC (รัฐลงทุน ให้สัมปทานแบบ Net Cost) 5. PSC-GC (รัฐลงทุน จ้างเดินรถแบบ Gross Cost) 6. PSC-MGC (รัฐลงทุน จ้างเดินรถแบบ Modified Gross Cost) 7. SOE (รัฐลงทุน และเดินรถเอง)

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานปี 2555 ขาดทุนสุทธิ 675 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่ขาดทุนสุทธิ 11,900 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 581 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 3,543 ล้านบาท (รวมค่าเสื่อม 1,900 ล้านบาท ดอกเบี้ย 815 ล้านบาท) มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,995 ล้านบาท โดยขณะนี้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (CFO) ของ รฟม.ได้หารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อลดความเสี่ยงของหนี้เงินเยนมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาทของ รฟม. เช่น จ่ายภาระหนี้บางส่วนที่มีดอกเบี้ยสูง หรือแปลงสกุลเงินกู้จากเยนเป็นบาทเนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่า ซึ่งจะทยอยสวอปตั้งแต่ต้นปี 56 ตามจังหวะค่าเงินที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม รฟม.มีแผนการหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2555 ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอแก้ไข พ.ร.บ.รฟม. ในเรื่องการขยายกรอบวงเงินที่ให้อำนาจบอร์ดอนุมัติได้จาก 10 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสนอ ครม.เพื่อให้คล่องตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น