ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศทำ ส.อ.ท.ร้าวลึกถึงขั้นล่ารายชื่อปลดประธานและคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน จับตา 26 พ.ย.นี้ประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. เปิดเวที “เคลียร์” ลงหรือไม่
นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานและประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. 26 พ.ย.นี้ ผู้ประกอบการสายงานต่างจังหวัดจะขอให้นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.และกรรมการบริหารชุดปัจจุบันได้ชี้แจงถึงการบริหารงาน ส.อ.ท. ซึ่งขณะนี้ภาพที่ออกไปมีความขัดแย้งประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56 อย่างหนัก
“เราอยากให้เคลียร์กันและกำลังหารือว่าจะทำอย่างไรที่ประธาน ส.อ.ท.ไม่เทกแอ็กชันต่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างเลยที่ผ่านมาและทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งล่าสุดทางประธานก็ได้ส่งอีเมลชี้แจงว่ากำลังดำเนินการอยู่และเกิดความเข้าใจผิด” นายวีระยุทธกล่าว
สำหรับกรณีที่มีข่าวถึงความไม่พอใจและอาจทำให้สมาชิกบางส่วนล่ารายชื่อเพื่อปลดนายพยุงศักดิ์ ออกจากประธานรวมถึงคณะกรรมการบริหารชุดนี้รวม 70 คนนั้นยอมรับว่าก็อาจเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาสายงานต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่พอใจการทำงานแต่ความแตกแยกคงไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กรจึงจะพยายามหาทางเจรจากันก่อน
นายวีระยุทธกล่าวว่า วันที่ 19 พ.ย. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะหารือรายละเอียดมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงซึ่งรัฐได้วางไว้ประมาณ 27 มาตรการ แต่เบื้องต้นมาตรการเหล่านี้ปฏิบัติได้จริงและจะลดต้นทุนได้แค่ 10% ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยต่างจังหวัดจะเพิ่มถึง 70-80% ดังนั้นเห็นว่าแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างจากการขึ้นค่าแรงน่าจะเป็นทางออกที่ดีสุดหากรัฐยังยืนยันจะขึ้นค่าแรง 1 ม.ค. 56
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า วันที่ 26 พ.ย. การประชุมกรรมการ ส.อ.ท.ยังไม่ทราบว่ามีวาระอะไรบ้าง แต่กรณีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็พร้อมที่จะรีบกลับมาชี้แจง ซึ่งขณะนี้ติดภารกิจเดินทางร่วมกับคณะนายกฯ อยู่ที่อังกฤษ โดยเบื้องต้นได้ชี้แจงสมาชิกผ่านอีเมลแล้ว
รายงานข่าวจาก ส.อ.ท.แจ้งว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวในการรวบรวมเสียงสมาชิกเกิน 50% เพื่อเสนอปลดประธาน ส.อ.ท. และกรรมการบริหาร ส.อ.ท.อีก 69 คน หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเจรจาให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ