xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เร่งออกแบบรถไฟฟ้าสีส้มเชื่อม กทม.ฝั่งตะวันออก-ตก ตั้งเป้าเปิดบริการปี 62

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รฟม.เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน เดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเปิดบริการปี 62 ปรับแนวไปตามถนนพระราม 9 ก่อนเข้ารามคำแหง เหตุชุมชนหนาแน่นกว่า เผยเส้นหลักเชื่อม กทม.ฝั่งตะวันออก-ตก และต่อเชื่อมรถไฟฟ้าได้ 8 สาย ลงทุนคุ้มค่าเหตุผลตอบแทนกว่า 19% 
 
วันนี้ (13 พ.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังเสียงประชาชนก่อนเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางรวม 35.4 กิโลเมตร มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยเป็นการปฐมนิเทศโครงการ งานศึกษา ทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 

โดยนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบโครงการ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี โดยต้องมีความรอบคอบเพราะเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เงินลงทุน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในปลายปี 2556 เริ่มก่อสร้างในปี 2557 และเปิดให้บริการได้ในปี 2562 
                
ทั้งนี้ ตามแผนจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วงเพื่อความรวดเร็ว โดยดำเนินการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีก่อนเนื่องจากมีประชาชนอาศัยตามแนวการก่อสร้างน้อยกว่า หลังจากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และเพื่อให้บริการครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้นยังปรับเส้นทางการก่อสร้างจากเดิมจะก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ ไปทางแยกเหม่งจ๋าย ถึงวัดเทพลีลา หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงใหม่ โดยเปลี่ยนไปก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 9 แล้วเลี้ยวซ้ายไปด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงแทนเนื่องจากมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่า โดยไม่ส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มเนื่องจากมีระยะทางเพิ่มประมาณ 400 เมตรเท่านั้น
                
โครงการนี้จะใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาและค้ำประกัน คาดว่าจะเป็นการกู้เงินในประเทศ เพราะหากกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จะมีขั้นตอนมาก และค่าธรรมเนียมทางการเงินไม่แตกต่างกันมากนัก

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดหนัก (Heavy Rail) โดยจากจุดเริ่มต้นถึงสถานีคลองบ้านม้าเป็นทางใต้ดิน หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการ แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ จากนั้นจะวิ่งไปตามแนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนิน แล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราช แล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภถึงดินแดง แล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เลี้ยวขวาไปเชื่อมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี

ทั้งนี้ มี 29 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 22 สถานี ได้แก่ 1. บางขุนนนท์ 2. ศิริราช 3. สนามหลวง 4. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 5. หลานหลวง 6. ยมราช 7. ราชเทวี 8. ประตูน้ำ 9. ราชปรารภ 10. รางน้ำ 11. ดินแดง 12. ประชาสงเคราะห์ 13. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 14. รฟม. 15. ประดิษฐ์มนูธรรม 16. รามคำแหง 12 17. รามคำแหง 18. ราชมังคลาฯ 19. หัวหมาก 20. ลำสาลี 21. ศรีบูรพา 22. คลองบ้านม้า และสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ 23. สัมมากร 24. น้อมเกล้า 25. ราษฎร์พัฒนา 26. มีนพัฒนา 27. เคหะรามคำแหง 28. มีนบุรี และ 29. สุวินทวงศ์

นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตกที่สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครและเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าอื่นๆ อีก 8 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช (บริเวณบางขุนนนท์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (บริเวณบางขุนนนท์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ (บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ) โครงการรถไฟฟ้า BTS (บริเวณทางแยกราชเทวี) โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (บริเวณถนนราชปรารภ) รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (บริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (บริเวณแยกลำสาลี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (บริเวณทางแยกร่มเกล้า)

โดยเป็นระบบที่มีสมรรถนะและความปลอดภัยสูง สามารถขนส่งผู้โดยสารอย่างน้อย 55,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่ห้วยขวาง บริเวณเดียวกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2562 และเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะมีปริมาณผู้โดยสาร 595,750 คนต่อเที่ยวต่อวัน และในปี 2602 จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 1,548,500 คนต่อเที่ยวต่อวัน และโครงการนี้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 19.4
กำลังโหลดความคิดเห็น